กรีนพีซบุกรัฐสภามอบข้อมูลพื้นฐานพลังงานไทยแก่รองประธานสภาฯ หวังกระตุ้นรัฐบาลใหม่ลงมือพัฒนาระบบพลังงานอย่างจริงจัง
กรีนพีซบุกรัฐสภามอบข้อมูลพื้นฐานพลังงานไทยแก่รองประธานสภาฯ หวังกระตุ้นรัฐบาลใหม่ลงมือพัฒนาระบบพลังงานอย่างจริงจัง
กรีนพีซกระตุ้นรัฐบาลใหม่ให้ลงมืออย่างจริงจังในการพัฒนาระบบพลังงานที่ยั่งยืนของประเทศ บนพื้นฐานของระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และระบบกระจายศูนย์พลังงาน
อาสาสมัครกรีนพีซได้บรรทุกหนังสือ ก ข ค ปฏิวัติพลังงานภาคพิสดาร จำนวน 700 เล่มในรถตุ๊กตุ๊กพลังงานแสงอาทิตย์ ไปยังอาคารรัฐสภา และมอบให้แก่รองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานด้านพลังงานไทยและให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ทำความเข้าใจ ก่อนการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า
หนังสือแบบเรียน ก ข ค ปฏิวัติพลังงานภาคพิสดาร เป็นคู่มือพลังงานฉบับย่อ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกรีนพีซ กล่าวถึงสถานการณ์และข้อมูลสำคัญของระบบพลังงานในประเทศไทย เรียงตามลำดับพยัญชนะ “ก” ถึง “ฮ” หนังสือแบบเรียนดังกล่าวนี้เป็นคู่มือนำทางสู่อนาคตพลังงานสะอาดในประเทศไทย ที่จะส่งผลดีต่อความมั่นคงทางพลังงาน เป็นอิสระจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลก และเพิ่มการจ้างงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกหลายตำแหน่ง
“หนังสือแบบเรียน ก ข ค ปฏิวัติพลังงานภาคพิสดารนี้เตือนให้รัฐบาลใหม่ได้ตระหนักว่ามีเพียงเจตจำนงทางการเมืองเท่านั้นที่จะสามารถนำประเทศไปสู่อนาคตพลังงานที่ยั่งยืนได้ หนังสือเล่มนี้ยังเป็นคู่มือของประชาชนทุกเพศทุกวัยที่ต้องการทำความเข้าใจกับคำว่าปฏิวัติพลังงานและช่วยติดตามการดำเนินนโยบายพลังงานของประเทศ รวมถึงมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ” นางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
ประเทศไทยได้เปิดโอกาสให้มีการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายในการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 20 ภายในปี 2566 (1) การคัดค้านโครงการพลังงานที่ไม่ยั่งยืนและสกปรกอย่างถ่านหินและนิวเคลียร์ที่เพิ่มมากขึ้นนั้นกลายเป็นประเด็นสำคัญที่พรรคการเมืองใหญ่ๆหยิบยกขึ้นมาหาเสียงในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา
นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP2010) เพื่อการจัดการวางแผนการลงทุนระยะยาวในภาคพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นและจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในพื้นที่เป้าหมายที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว
“ประชาชนเป็นผู้กำหนดอนาคตพลังงานสะอาดและยั่งยืน การพัฒนาที่ยั่งยืนและสันติสุขในสังคมไทยต้องปราศจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหิน เราต้องการเจตจำนงและปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อก้าวสู่การปฏิวัติพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่การผลิต การจัดส่ง และการบริโภคพลังงาน” นางสาวจริยา กล่าวสรุป