เนื้อหาวันที่ : 2011-08-22 09:43:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1825 views

สศอ.เผยปี 53 ภาคอุตฯ ใช้สิทธิ์ FTA แค่ครึ่งเดียว

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ชี้ปี 53 ผู้ส่งออกใช้ประโยชน์ FTA แค่ 50.27% ประหยัดภาษีได้ 1.60 แสนล้านบาท

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

          สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ชี้ปี 53 ผู้ส่งออกใช้ประโยชน์ FTA แค่ 50.27% ประหยัดภาษีได้ 1.60 แสนล้านบาท

          นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยผลการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2553 จากความตกลงการค้าเสรีฉบับต่างๆ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และ ออสเตรเลีย โดยพบว่า ในภาพรวม ผู้ส่งออกไทยมีอัตราการใช้ประโยชน์จาก FTA ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 50.27 ทำให้สินค้าส่งออกของไทย มีราคาลดลงจากการประหยัดภาษีศุลกากรคิดเป็นมูลค่า 1.01 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.09 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปยังประเทศในภาคี

ในขณะที่ผู้นำเข้าไทย มีอัตราการใช้ประโยชน์จาก FTA ในระดับปานกลางเช่นกัน ที่ร้อยละ 40.67 ทำให้สินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศคู่ภาคีได้ประโยชน์จากการประหยัดภาษีศุลกากรคิดเป็นมูลค่า 5.92 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.74 เมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากประเทศในภาคี

โดยจะเห็นได้ว่า การที่ภาคนำเข้าไทยได้รับประโยชน์จาก FTA น้อยกว่าภาคส่งออกไทย เนื่องจากมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ต่ำกว่าอย่างชัดเจน และความตกลง AFTA ยังเป็นความตกลง FTA ที่ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงแบบแผนการค้าระหว่างประเทศของไทยที่มีการพึ่งพาอาเซียนสูง

เมื่อพิจารณาในรายสาขาอุตสาหกรรม พบว่า ผู้นำเข้าไทยส่วนใหญ่ยังมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA หลายฉบับในระดับค่อนข้างระดับต่ำจนถึงปานกลาง ยกเว้นอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหาร สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ เซรามิก และ ยาง ที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง AFTA ACFTA TAFTA และ JTEPA ในระดับสูง ตัวอย่างสาขาอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้ประโยชน์ในระดับต่ำ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรกล ภายใต้ JTEPA AKFTA เครื่องหนัง ภายใต้ JTEPA TAFTA พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ภายใต้ JTEPA เป็นต้น ในด้านภาคส่งออกไทย ผู้ประกอบการไทยหลายสาขามีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA หลายฉบับในระดับปานกลางจนถึงสูง

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการอีกบางสาขาที่ยังใช้ประโยชน์จาก FTA ไม่เต็มที่ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอ ภายใต้ AFTA และ ACFTA เครื่องใช้ไฟฟ้า ภายใต้ JTEPA ACFTA AKFTA เครื่องจักรกล ภายใต้ ACFTA และ JTEPA เครื่องหนัง ภายใต้ AFTA ACFTA เป็นต้น

และเมื่อพิจารณาในรายสินค้าพบว่า สินค้าส่งออกและนำเข้าของไทยบางรายการยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคต่างๆ อย่างน้อย 3 ด้านหลัก คือ ข้อหนึ่ง สินค้าอยู่นอกรายการลดภาษีหรืออยู่ในรายการสินค้าที่มีความอ่อนไหว ข้อสอง สินค้าไม่ผ่านกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า และ ข้อสาม ผู้ส่งออกเห็นว่า การตรวจโครงสร้างต้นทุนและกระบวนการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้ายังใช้เวลานาน

          จากการประมาณการพบว่า หากปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้รับการแก้ไข ผลประโยชน์ที่ภาคเอกชนไทยจะได้รับจาก FTA จะเพิ่มสูงขึ้นได้อีกมาก โดยหากเร่งส่งเสริมทำให้อัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงขึ้นเต็มร้อยละ 100 โดยที่ยังไม่ได้เจรจาเพื่อขยายความครอบคลุมเพิ่มเติม ประโยชน์ที่สินค้าส่งออกไทยจะได้รับจากการประหยัดภาษีศุลกากรจะเพิ่มจากประมาณ 101,787 ล้านบาท เป็นประมาณ 188,175 ล้านบาท

ในขณะที่ประโยชน์ที่ ผู้นำเข้าไทยจะได้รับจะเพิ่มจากประมาณ 59,159 ล้านบาท เป็นประมาณ 98,304 ล้านบาท ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับประโยชน์จาก FTA ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วได้อย่างสูงสุด

ตารางที่ 1 การใช้ประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA โดยผู้ส่งออกไทยในปี 2553

ตารางที่ 2 การใช้ประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA โดยผู้นำเข้าไทยในปี 2553