ส.อ.ท. เผยความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนก.ค. ลดลงอยู่ที่ 105.2 เหตุเอกชนห่วงต่อต้นทุนการผลิตพุ่งจากนโยบายขึ้นค่าแรง เสนอรัฐขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมสร้างเสถียรภาพรัฐบาลเพื่อพัฒนา ศก. ต่อเนื่อง
ส.อ.ท. เผยความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนก.ค. ลดลงอยู่ที่ 105.2 เหตุเอกชนห่วงต่อต้นทุนการผลิตพุ่งจากนโยบายขึ้นค่าแรง เสนอรัฐขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมสร้างเสถียรภาพรัฐบาลเพื่อพัฒนา ศก. ต่อเนื่อง
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกรกฎาคม จำนวน 1,104 ราย ครอบคลุม 40 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในกรกฎาคม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 105.2 จากระดับ 107.4 ในเดือนมิถุนายน ค่าดัชนีที่ปรับลดลงเกิดจากองค์ประกอบของดัชนี ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับลดของค่าดัชนี ได้แก่ ความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูง และเป็นช่วงขาขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทเป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออก และสภาวะความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของไทย อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนียังอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยังมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี โดยมีปัจจัยบวกจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 113.5 ในเดือนมิถุนายน เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการจะมีการปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี
ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนกรกฎาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และอุตสาหกรรมขนาดกลางปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนมิถุนายน ในขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีค่าดัชนีปรับลดลง โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม มีดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 96.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 95.7 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง (เครื่องหนัง, หนังวัวฟอกสำเร็จ และหนังเฟอร์นิเจอร์มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ) อุตสาหกรรมก๊าซ (ก๊าซธรรมชาติ, ก๊าซหุงต้ม, ก๊าซ LPG และ Industrial Gas มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ และเครื่องจักรกลการเกษตร อย่างไรก็ตามค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่น ต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี
ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 108.0 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อย่างไรก็ตามค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี
อุตสาหกรรมขนาดกลาง มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 104.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากระดับ 104.2 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูปมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ปูนซีเมนต์ และคอนกรีตผสมสำเร็จมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ ไม้อัด (ไม้ยางพาราแปรรูปมียอดขายเพิ่มขึ้นในประเทศไทยและจีน)
อุตสาหกรรมไม้บางและวัสดุแผ่น (ไม้อัด, ไม้ปาร์เก้ และแผ่นขึ้นไม้อัด มีขอดขายเพิ่มขึ้นในประเทศไทย ญี่ปุ่น ยุโรป และออสเตรีย) อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (ฝาผนึกราคา และเฟอร์นิเจอร์ไม้ มียอดขายเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม (เครื่องปั้นดินเผา และของที่ระลึกมียอดขายเพิ่มขึ้นในไทย สหรัฐฯ และยุโรป) และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.7 ลดลงจากระดับ 111.3 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 114.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 121.2 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (เส้นด้าย และเคมีสิ่งทอมียอดขายลดลงในอาเซียน และยุโรป) อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเหล็ก(เหล็กรูปพรรณ, เหล็กลวด และโครงเหล็กมียอดขายลดลงในประเทศไทย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย)
อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น อุตสาหกรรมอาหาร (กาแฟ, อาหารแช่แข็ง และเส้นก๋วยเตี๋ยวมียอดขายลดลง) อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 114.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 121.1 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค ประจำเดือนกรกฎาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ปรับตัวลดลง ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน
ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 102.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 108.9 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับลดลงของค่าดัชนีคือ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทที่เป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออก ตลอดจนความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจโลก
สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ, อุตสาหกรรมรองเท้า, อุตสาหกรรมเครื่องประดับ, อุตสาหกรรมเหล็ก, อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมสมุนไพร, อุตสาหกรรมเคมี, อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ, อุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.7 ปรับลดลงจากระดับ 115.7 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี
ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 108.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 97.2 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ผลกระทบจากเหตุอุทกภัยภาคเหนือคลี่คลายลง ประกอบกับผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาลชุดใหม่ จึงส่งผลดีต่อการขยายตัวของภาคการผลิต และการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีกังวลในด้านต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 105.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 106.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 103.0 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวต่อเนื่องสะท้อนจากการที่ราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้เกษตรกรมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นในเสถียรภาพ และนโยบายบริหารประเทศของรัฐบาลชุดใหม่
สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และ อุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 116.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 110.2 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 110.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 117.4 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับลดของค่าดัชนี ได้แก่ ต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน และการแข็งค่าของเงินบาทจากเดือนก่อนหน้า ที่เป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออกและปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ
สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 112.7 ปรับลดลงจากระดับ 117.7 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี จึงส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกร และการบริโภค
ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 101.5 โดยปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 101.7 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ต้นทุนประกอบการ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น นโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน การผันผวนของค่าเงินบาท และการขาดแคลนแรงงาน ประกอบกับ ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกของอุตสาหกรรมภาคใต้ สำหรับอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง
อย่างไรก็ตามค่าดัชนีอยู่ในระดับเกิน 100 แสดงว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 110.0 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลงทั้งในกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ โดยกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 104.9 ปรับลดลงจากระดับ 106.6 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 107.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 113.3 ในเดือนมิถุนายน
องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อย่างไรก็ตามค่าดัชนี อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี
และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 106.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 112.2 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องประดับ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.8 ปรับลดลงจากระดับ 115.4 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจาก สถานการณ์ราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมา คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สถานการณ์ทางการเมือง และอัตราแลกเปลี่ยน ตามลำดับ โดยพบว่าปัจจัยที่มีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์ทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ที่มีต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ในเรื่องของการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ในทางกลับกันควรเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เร่งสร้างเสถียรภาพของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเร่งสร้างความปรองดองในประเทศไทยอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นอีกด้วย