เนื้อหาวันที่ : 2011-08-19 16:55:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 838 views

ไทยมุ่งเป็นที่หนึ่งลดละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

บก. ปอศ. ลั่นประเทศไทยมุ่งเป็นที่หนึ่ง ด้านการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ในเอเชียแปซิฟิก

ประเทศไทยมุ่งเป็นที่หนึ่ง ด้านการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ในเอเชียแปซิฟิก โฆษกของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) กล่าว

เป็นเวลาติดต่อกันสี่ปีแล้วที่อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 80 ในปีพ.ศ. 2549 เหลือร้อยละ 73 ในปีพ.ศ. 2553 หรือลดลง 7 จุดภายในระยะเวลา 5 ปี    เมื่อปีที่ผ่านมา อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลดลง 2 จุด จากที่เคยอยู่ที่ร้อยละ 75 ในปีพ.ศ. 2552  และในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีตัวเลขแสดงให้เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น สำหรับการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ในประเทศไทย

ยกเว้นฮ่องกงแล้ว ประเทศไทยลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิก “เรื่องนี้ไม่ใช่แค่สิ่งดีๆ ที่เราต้องทำ แต่เป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องทำ เพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับโลก” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการและกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าว  “ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนจากตลาดแรงงาน ไปเป็นตลาดนวัตกรรม  เราต้องการให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จัก ในฐานะแหล่งผลิตผลงานสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ใช่แหล่งละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา”

ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ สะท้อนให้เห็นถึง สิ่งสำคัญสองประการ ประการแรก คือ ประเทศไทยมุ่งมั่นยกระดับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับการสร้างสรรค์งานนวัตกรรมที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศด้วย ประการที่สอง คือ ประเทศไทยมีความตั้งใจจริง ในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับนานาชาติ

 วิกฤตการเงินโลก ตลอดจนการหดตัวของตลาดส่งออกและกำลังซื้อในต่างประเทศ ส่งผลให้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพื่อข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้ ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องแสดงออกถึงความเคารพในทรัพย์สินทางปัญญา ด้วยการลงมือทำจริง เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมในประเทศ และรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีกับประเทศอื่นๆ 

“การเคารพในสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญานั้น เป็นสิ่งสำคัญเสมอ ต่อการสร้างและการเติบโตอย่างยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ ซึ่งประเทศไทยต้องการให้เกิดขึ้นจริง” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว “และยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นต่อความอยู่รอดในยามที่งานหายาก และหลายๆคน จำต้องหันมาทำธุรกิจหรือสร้างสรรค์งานนวัตกรรมของตัวเอง”

ประโยชน์ของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ต่อเจ้าของผลงานผลิตภัณฑ์ลิขสิทธิ์เท่านั้น ในระดับบุคคล ผู้ที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ยังได้รับความช่วยเหลือด้านเทคนิคต่างๆ ตลอดจนปลอดภัยจากแฮกเกอร์และมัลแวร์ ในระดับชาติ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตและก่อให้เกิดการจ้างงาน

ผลการศึกษาของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ร่วมกับบริษัทวิจัยไอดีซี คาดการณ์ว่าการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงได้ 10 จุด ภายในระยะเวลาสี่ปี สามารถช่วยทำให้เกิดการจ้างงานใหม่ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้กว่า 350,000 ตำแหน่ง 

ในทางกลับกัน การละเมิดสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา บั่นทอนนวัตกรรม ตัดโอกาสในการสร้างงานและลดความน่าสนใจของประเทศไทยในฐานะคู่ค้าหรือแหล่งลงทุน “ไม่มีใครอยากค้าขายหรือว่าจ้างทำธุรกิจกับคุณ หากคุณเคยมีประวัติว่าขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น” โฆษกของบก.ปอศ. กล่าว

 ท้ายที่สุดแล้วนอกจากนี้ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญายังส่งผลให้ประเทศสูญเสียประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศที่ควรได้รับ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มีระบบสิทธิพิเศษ (Generalised System of Privileges) ซึ่งรวมถึงการยกเว้นภาษีนำเข้าให้แก่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำนวน 4,800 รายการ

ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ มีโทษทั้งจำและปรับ
ในปีพ.ศ. 2553 มีบริษัทประมาณ 210 แห่ง ถูกเข้าตรวจค้น และพบว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมมูลค่าเกือบ 500 ล้านบาท แม้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจะประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีเรื่องต้องทำอีกมาก การสืบสวนและตรวจค้นจะยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าจะเป็นไปอย่างเงียบๆก็ตาม เมื่อพิจารณาความก้าวหน้าในการลดปริมาณการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ และความมุ่งมั่นของหน่วยงาน บก.ปอศ. ตลอดจนความตระหนักรู้ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของสาธารณชนแล้ว พ.ต.อ. ชัยณรงค์ มั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถแซงหน้าฮ่องกงได้ในไม่ช้านี้ ในฐานะประเทศที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลดลงอย่างรวดเร็วที่สุดในภูมิภาคนี้

 “นอกจากประโยชน์ด้านการพาณิชย์และเศรษฐกิจแล้ว  การเคารพในสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญายังแสดงถึงความซื่อสัตย์ของเราทั้งในระดับบุคคลและระดับประเทศ” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว “ประเทศไทยยังมีคนดีๆ ที่มีพรสวรรค์ มีความคิดสร้างสรรค์และเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เราไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องขโมยนวัตกรรมของใครเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ”