เนื้อหาวันที่ : 2011-08-19 15:29:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1068 views

คต.รุกเสริมความรู้ธุรกิจไทยใช้ประโยชน์จาก FTA

          นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ ได้จัดสัมมนาเรื่อง “เจาะตลาด เพิ่มโอกาสการค้าด้วย FTA : อาเซียน/จีน” ในวันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม 2554 ณ ห้องดอยตุง โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท เชียงราย จังหวัดเชียงราย

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ที่ไทยได้ทำกับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในอาเซียนและจีน ตลอดจนมาตรการและความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี (กองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์) ซึ่งการสัมมนา ดังกล่าวมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก ในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงให้ความสนใจเข้ารับฟังการสัมมนาในครั้งนี้กว่า 200 คน

          จังหวัดเชียงรายเป็นเขตเศรษฐกิจชายแดน มีการพัฒนาการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจีนและ สปป. ลาว การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องเขตการค้าเสรีหรือ FTA ที่เชียงรายในวันนี้ เป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะเสริมศักยภาพและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจสามารถขยายการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ให้ขยายตัวมากขึ้น

          โดยที่อาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย และจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ในอีก 4 ปี ข้างหน้า หรือปี 2558 นั้น จะทำให้ อาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เป็นฐานการผลิตและเป็นตลาดเดียวกันที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับการเคลื่อนย้ายสินค้าที่ได้ถิ่นกำเนิดภายในอาเซียน สมาชิกอาเซียนจึงจัดทำระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออก (Self Certification) โดยกำหนดให้สมาชิกเดิม ๖ ประเทศ เริ่มใช้ระบบดังกล่าวภายในปี ๒๕๕๕ ควบคู่ไปกับการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D)

ทั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะใช้ระบบนี้อย่างสมบูรณ์ในปีเดียวกับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นอกจากนี้ ในส่วนของความตกลงการค้าเสรีที่อาเซียนได้จัดทำกับประเทศต่าง ๆ นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี อาเซียน - จีน ได้มีการปรับปรุงระเบียบปฏิบัติการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าใหม่ ให้มีการค้าแบบคนกลางและนายหน้า ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างสมาชิกอาเซียนและจีน ให้ขยายตัวได้มากขึ้น

          ในอีกด้านหนึ่ง ยังมีผู้ประกอบการบางกลุ่มที่ไม่สามารถแข่งขันทางการค้าจากการเปิดเสรี FTA ได้ ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จึงต้องได้รับความช่วยเหลือ เพื่อให้ปรับตัวได้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ จึงได้มีโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือที่เรียกว่า กองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วกว่า 268 ล้านบาท รวม 31 โครงการ โดยมีสินค้าที่ได้รับความช่วยเหลือ อาทิ ยาสมุนไพร นมโคสดแท้ 100% การท่องเที่ยว เครื่องหนัง เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลาป่น ส้ม และ โคเนื้อ

          นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ยังมีภาระหน้าที่ในการเยียวยาผู้ประกอบการในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการทุ่มตลาด เพื่อขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต รวมทั้ง ผลกระทบที่เกิดการทะลักเข้ามาของสินค้านำเข้าจำนวนมาก มาตรการที่กรมฯ สามารถนำมาใช้เยียวยาผลกระทบดังกล่าวได้แก่ มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดและมาตรการปกป้อง (Safeguards) ซึ่งผู้ประกอบการทั้งหลาย ควรเฝ้าระวัง และร่วมมือกับกรมการค้าต่างประเทศเพื่อแก้ไขเยียวยาอย่างใกล้ชิด

          นายสุรศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2554 กรมการค้าต่างประเทศมีโครงการที่จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โดยการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการในการใช้สิทธิประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการที่ประเทศคู่ค้าได้เปิดตลาดภายใต้ความตกลง FTA ต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ ผู้ประกอบการและผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการสัมมนาได้ที่ www.dft.go.th หรือสอบถามที่สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ ผ่านทางสายด่วน 1385