HBIRM เผยสารพันปัญหาจดทะเบียนนิติบุคคลบ้านจัดสรร ทั้งจดทะเบียนเหตุโครงการไม่ถึง 50% ลูกค้าไม่รับโอนสาธารณูปโภค แนะรัฐแก้กฎหมายลดความเดือดร้อน
เผยสารพันปัญหาการจดทะเบียนนิติบุคคลบ้านจัดสรร HBIRM แนะรัฐแก้กฎหมายลดความเดือนร้อนผู้ซื้ออสังหาฯ
HBIRM เผยสารพันปัญหาจดทะเบียนนิติบุคคลบ้านจัดสรร ทั้งจดทะเบียนไม่ได้เนื่องจากการพัฒนาโครงการไม่ถึงร้อยละ 50 ในขณะที่โครงการสร้างเสร็จจดทะเบียนได้แต่ลูกค้าไม่ยอมรับโอนสาธารณูปโภค ชี้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการบริหารชุมชน แนะรัฐเร่งแก้ไขกฏหมายดังกล่าวเพื่อลดความเดือนร้อนของผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการอยู่ในชุมชนที่มีคุณภาพ
นายธนันทร์เอก หวานฉ่ำ เปิดเผยถึงปัญหาของการจดทะเบียนนิติบุคคลบ้านจัดสรรในช่วงที่ผ่านมาว่า กฎหมายดังกล่าว ยังมีช่องโหว่ทำให้เจ้าของโครงการจัดสรรที่ต้องการจดทะเบียนนิติบุคคลบ้านจัดสรร ไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนได้ เนื่องจากการพัฒนาโครงการยังไม่สมบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนด
ตัวอย่างเช่น มีผู้ประกอบการบ้านจัดสรรเจ้าของโครงการหนึ่งได้จัดทำโครงการที่มีบ้านจัดสรรจำนวน 150 แปลง ซึ่งได้เริ่มทำตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน แต่การก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากก่อสร้างได้เพียง 40% ของจำนวนแปลงที่ขออนุญาตจัดสรร เมื่อผู้ซื้อได้เข้าอยู่อาศัยตามจำนวนที่สร้างเสร็จและขายไปแล้ว 40% เจ้าของโครงการจึงต้องการจัดตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรร แต่ไม่สารมารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดข้อกฎหมายที่ระบุให้ผู้จัดสรรต้องขายให้ได้ 50% ขึ้นไปจึงจะจัดตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรรได้
เมื่อไม่สามารถจดทะเบียนได้จึงเกิดปัญหาเรื่องการบริหารและจัดการภายในโครงการ เนื่องจากไม่มีข้อกฏหมายบังคับให้ผู้อยู่อาศัยได้ปฏิบัติตาม ทำให้ไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการจ่ายค่าบริการสาธารณูปโภค แม้ว่าผู้จัดสรรได้จัดเก็บตั้งแต่ต้นมา แต่ไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าไฟฟ้า ค่ายาม ค่าเก็บขยะ เพราะผู้ซื้อบ้านไม่ยอมจ่าย เมื่อจดทะเบียนนิติบุคคลไม่ได้ ผู้จัดสรรจึงต้องงดการให้บริการต่าง ๆ รวมทั้งเลิกจ้างยามรักษาความปลอดภัย ปล่อยให้การไฟฟ้าตัดไฟ งดการจัดเก็บขยะ จึงทำให้เกิดความเดือนร้อนกับผู้ซื้อบ้านในโครงการดังกล่าว ซึ่งต้องติดตั้งโคมไฟหน้าบ้านของตัวเอง รวมทั้งต้องระมัดระวังทรัพย์สินและต้องเอาขยะไปทิ้งเอง
นายธนันทร์เอก กล่าวถึงทางออกของปัญหาดังกล่าวว่า จะต้องมีการแก้ไขข้อกฎหมายเรื่องจำนวนแปลงที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ จาก 50% ลดลงเหลือประมาณ 30-40% เพราะถ้าเปิดโอกาสให้โครงการที่ก่อสร้างยังไม่สมบุรณ์แต่มีผู้อยู่อาศัยแล้วสามารถจดนิติบุคคลบ้านจัดสรรได้ จำนวนบ้านส่วนที่ยังขายไม่ได้ก็ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของผู้จัดสรรที่จะต้องทำหน้าที่ชำระค่าส่วนกลางเช่นเดียวกับสมาชิกรายอื่น ๆ อยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวลเรื่องส่วนที่ยังเหลือขายในโครงการ
แต่ถ้ากฎหมายยังคงบังคับใช้เหมือนเดิม ก็จะเกิดปัญหากระทบกับทั้ง 2 ฝ่าย กล่าวคือฝ่ายผู้จัดสรรก็ยังต้องผูกพันเรื่องการดูแลสาธารณูปโภคต่อไป และผู้ซื้อก็เดือดร้อนเพราะไม่มีนิติบุคคลดูแลความเรียบร้อยต่าง ๆ ในโครงการ จึงเห็นว่าภาครัฐควรจะต้องเข้ามาดูแลและแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับความจริงที่เกิดขึ้น ทั้งกับการพัฒนาของผู้ประกอบการที่อาจขายไม่ได้ตามเป้า ในขณะเดียวกันผู้ซื้อบ้านจัดสรรก็ต้องการให้มีการดูแลสาธารณูปโภคตามที่กฏหมายกำหนด
นอกจากนี้ นายธนันทร์เอก ยังได้กล่าวถึงประสบการณ์ในการบริการจัดการชุมชนมากว่า 15 ปีว่า ยังมีปัญหาเกี่ยวกับโครงการที่สามารถจดทะเบียนนิติบุคคลบ้านจัดสรรได้ เพราะเข้าข่ายเรื่องจำนวนบ้านที่สร้างเสร็จ แต่ผู้อยู่อาศัยไม่ยอมรับโอนสาธารณูปโภค
โดยเหตุผลที่กรรมการหมู่บ้านไม่ยอมรับโอนสาธารณูปโภค เนื่องจากอ้างว่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ถนนและท่อระบายน้ำไม่เรียบร้อย แม้เจ้าของโครงการจะซ่อมแซมให้แล้วก็ตามแต่ก็ยังไม่พอใจ บางรายก็ขอเงินเพิ่มเพื่อเป็นทุนสำรองในการซ่อมแซมและปรับปรุง เนื่องจากเกรงว่าสาธารณูปโภคเหล่านั้นจะมีปัญหาอีก ปัญหานี้ก็ยังคลุมเครือเนื่องจากกฎหมายไม่ได้ระบุว่าสาธารณูปโภคสมบูรณ์หรือมีปัญหาจะนำเกณฑ์ใดมาตัดสิน
“สำหรับปัจจุบันผู้อยู่อาศัยไม่ยอมรับโอนสาธารณูปโภค เนื่องจากมีข้ออ้างต่าง ๆ ผู้จัดสรรต้องไปร้องที่กรมที่ดิน เพื่อแต่งตั้งกรรมการมาเจรจาไกล่เกลี่ย ปัญหานี้บางรายก็คลี่คลายได้ แต่บางโครงการก็ถึงกับต้องฟ้องร้องกัน คิดว่าปัญหาในลักษณะดังกล่าวน่าจะมีทางออกที่ดีสำหรับทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้น ภาครัฐน่าจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหานี้โดยตรง คือกรมที่ดินหรือหน่วยงานที่เหมาะสมเป็นผู้ชี้ขาด มิฉะนั้นปัญหาดังกล่าวก็ไม่สามารถคลี่คลายได้ และเกิดความเดือนร้อนกันทุก ๆ ฝ่าย” นายธนันทร์เอก กล่าว