ปัญหาหนี้ของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยืดเยื้อ ครม. ขมิ้นอ่อน รัฐบาล "พอเพียง" อนุมัติ กู้เงินเพื่อชำระหนี้ค่าน้ำมัน และชำระหนี้ค่าเหมาซ่อมพร้อมดอกเบี้ย แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นการชั่วคราว
ปัญหาหนี้ของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยืดเยื้อ ครม. ขมิ้นอ่อน รัฐบาล "พอเพียง" อนุมัติ กู้เงินเพื่อชำระหนี้ค่าน้ำมัน และชำระหนี้ค่าเหมาซ่อมพร้อมดอกเบี้ย แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นการชั่วคราว หลังหมกหนี้ไว้นานหลายรัฐบาล |
. |
นางเนตรปรียา ชุมไชโย ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงินเพื่อชำระหนี้ค่าน้ำมัน และชำระหนี้ค่าเหมาซ่อมพร้อมดอกเบี้ย ณ วันที่ 30 กันยายน 2549 จำนวน 10,084.059 ล้านบาท และ 1,472.336 ล้านบาท ตามลำดับ |
. |
ทั้งนี้ แบ่งเป็นค่าน้ำมัน 9,800.487 ล้านบาท และดอกเบี้ย 283.572 ล้านบาท ค่าเหมาซ่อม 1,425.334 ล้านบาท และดอกเบี้ย 47.002 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ และให้ ขสมก. เป็นผู้รับภาระชำระเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน อย่างไรก็ตาม การกู้เงินดังกล่าวถือเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของ ขสมก.เป็นการชั่วคราว ไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้ |
. |
นางเนตรปรียากล่าวว่า เนื่องจากกระทรวงคมนาคมได้รับรายงานจาก ขสมก. ว่าจากการประมาณการเงินสดรับ-จ่าย ประจำปีงบประมาณ 2550 คาดว่าในปีงบประมาณ 2550 ขสมก.จะมีเงินสดขาดมือ 5,228 ล้านบาท ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ค้างชำระค่าน้ำมันพร้อมดอกเบี้ยและหนี้ค้างชำระค่าเหมาซ่อมพร้อมดอกเบี้ยได้ ขณะที่กระทรวงพลังงานแจ้งว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณปรับปรุงรถโดยสาร ขสมก. ให้เป็นรถใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ดังนั้น ปตท.จึงขอให้ ขสมก.ชำระหนี้ค้างค่าน้ำมันพร้อมดอกเบี้ยโดยไม่ต้องรอแผนปรับโครงการการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของ ขสมก. ซึ่งกระทรวงการคลังไม่ขัดข้อง แต่ต้องมีแผนบริหารให้ชัดเจนเพื่อรัฐบาลจะได้จ่ายเงินชดเชยได้ |
. |
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นว่า ปัจจุบัน ขสมก.มีภาระหนี้การค้าที่สำคัญ 2 ส่วนได้แก่ ค่าน้ำมันและค่าเหมาซ่อมรถโดยสาร ซึ่งเกิดจากการรับภาระราคาน้ำมัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น สภาพการจราจรติดขัด และการจัดเส้นทางเดินรถที่ซ้ำซ้อน ขณะเดียวกันรถโดยสารมีสภาพเก่าและมีแนวโน้มการขาดทุนในช่วงปี 2550-2554 เฉลี่ยปีละประมาณ 7,330 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 600 ล้านบาท และมีภาระหนี้รวมดอกเบี้ยในปี 2550-2554 เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 37,605 ล้านบาท จึงจำเป็นที่ ขสมก.ต้องดำเนินการปรับโครงสร้างกิจการและปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวด้วย |
. |
ที่มา : มติชน |