เนื้อหาวันที่ : 2011-08-17 15:06:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1010 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 17 ก.ค. 2554

1. นายแบงค์เตือนขยับกรอบเงินเฟ้อต้องรอบคอบ
-  ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การกำหนดกรอบเงินเฟ้อที่เหมาะสมจะต้องดูตามพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกควบคู่ไปด้วย ซึ่งปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ประเทศไทยต้องดูข้อดีข้อเสียของการขยายกรอบเงินเฟ้อ โดยจะต้องไม่ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ หรือไม่ทำให้เสียรภาพทางการเงินด้อยลง

-  สศค. วิเคราะห์ว่า  อัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีสาเหตุหลักมาจากเงินเฟ้อด้านอุปทาน โดยเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้น การปรับกรอบเงินเฟ้อควรพิจารณาอย่างรอบครอบ เพื่อให้สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในช่วง 7 เดือนแรกของปี 54 ขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างมีความแปรปรวนทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นส่งผลต่อเนื่องให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นตาม

ประกอบกับราคาน้ำมันในประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานในช่วง 7 เดือนแรกอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ทั้งนี้  สศค. คาดว่าในปี 54 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.3 – 4.8 คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.54)

2. แบงก์ชาติเชื่อปัญหาสหรัฐ-ยุโรปไม่กระทบส่งออกไทย
-  ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานถึง ปัญหาในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะไม่กระทบต่อภาคส่งออกไทย เนื่องจากปัจจุบันส่งออกไทยมีการกระจายอยู่ในหลายตลาด  โดยสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ มีเพียงร้อยละ 11 ของการส่งออกทั้งหมด

-  สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยยังคงขยายตัวอย่างมั่นคง โดยสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกล่าสุดเดือน มิ.ย. 54 ที่มีการขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 16.8 มูลค่าการส่งออก 21.07พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่   สินค้าเกษตรกรรม สินค้าแร่และเชื้อเพลิงที่ขยายตัวร้อยละ55.7 และ 43.1ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศแถบอาเซียน ญี่ปุ่น มีสัดส่วนที่ร้อยละ 22.82 และ12.58 ตามลำดับ โดยสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10.50 และ9.39 ตามลำดับของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย 

แสดงให้เห็นว่าการส่งออกของไทยได้มีการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดเอเซียมากขึ้น และยังจำกัดความเสี่ยงด้านการส่งออกของไทยหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปกลับมาชะลอตัวอีกครั้งจากความเสี่ยงด้านวิกฤติหนี้สาธารณะ และปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้  สศค. คาดว่าในปี 54 มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการจะยังคงขยายตัวได้ดีโดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 16.6-18.6 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 54)

3. เศรษฐกิจฮ่องกงและสิงคโปร์เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย
-  นักวิเคราะห์ของไดวา แคพิทัล มาร์เก็ตส์ รายงานว่า GDP ของฮ่องกง ในไตรมาสที่ 2 ปี 54 หดตัวลงร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน  ในขณะที่กระทรวงการค้าสิงคโปร์รายงานว่า  GDP ของสิงคโปร์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 54 หดตัวลงร้อยละ -6.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน  ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ต่างมองว่า เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิคของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงหดตัวลง

-  สศค. วิเคราะห์ว่า สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่เริ่มชัดเจนมากขึ้นส่งผลให้ฮ่องกงและสิงคโปร์ที่เป็นประเทศพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักต้องเผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ  โดยล่าสุด GDP ของฮ่องกงในไตรมาสที่ 2 ปี 54 เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว หดตัวลงร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.1

โดยเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหดตัวลงร้อยละ -11.1 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 14.4  ในขณะที่ GDP ของสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 2 ปี 54 เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว หดตัวลงร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน  ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 6.2 โดยเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 9.1 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 24.6 

กอปรกับในภาคการผลิตเริ่มมีสัญญาณการหดตัว ซึ่งสะท้อนจากดัชนีคำสั่งซื้อผู้จัดการฝ่ายผลิต (Mfg PMI) ในเดือน ก.ค. 54 อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ที่ระดับ 49.3  ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวลดลงของคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก และเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ของการผลิตสินค้าอิเล็คทรอนิกส์  ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฮ่องกงและสิงคโปร์ในปี 54 จะสามารถเติบโตได้ที่ร้อยละ 5.5  และ 5.3  (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.54)      

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง