เอสเอสไอ เผยไตรมาส 2 ปี 2554 ขาดทุนกว่าพันล้านบาท เหตุกระทบหนักจากภัยธรรมชาติ ค่าใช้จ่ายก่อนผลิตที่อังกฤษ บวกเหล็กแผ่นรีดร้อนเติมโบรอนจีนทุ่มตลาด เชื่อครึ่งปีหลังยอดขายเพิ่ม 40%
เอสเอสไอ เผยไตรมาส 2 ปี 2554 ขาดทุนกว่าพันล้านบาท เหตุกระทบหนักจากภัยธรรมชาติ ค่าใช้จ่ายก่อนผลิตที่อังกฤษ บวกเหล็กแผ่นรีดร้อนเติมโบรอนจีนทุ่มตลาด เชื่อครึ่งปีหลังยอดขายเพิ่ม 40%
เอสเอสไอประกาศไตรมาส 2/2554 ขาดทุน 1,072 ล้านบาท เหตุจากภัยธรรมชาติบวกปัจจัยภายนอกกระทบและค่าใช้จ่ายก่อนผลิตที่อังกฤษ มั่นใจปริมาณขายครึ่งปีหลังโต 40% เพิ่มลงทุนปรับปรุงเตาถลุงที่อังกฤษเพื่อความแข็งแกร่งระยะยาว
เอสเอสไอเปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2554 ขาดทุน 1,072 ล้านบาท มีรายได้จากการขายและบริการรวม 9,511 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 20 เผยต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นแต่ถูกควบคุมราคาขาย อีกทั้งยังถูกเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอนจากจีนหลีกเลี่ยงภาษีเข้ามาทุ่มตลาด และกำลังซื้อจากกลุ่มยานยนต์ตกลงจากแผ่นดินไหวญี่ปุ่น รวมถึงแบกภาระต้นทุนคงที่และค่าใช้จ่ายบริหารก่อนเริ่มผลิตที่อังกฤษ
ทั้งนี้ภาครัฐเร่งรัดออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และกลุ่มยานยนต์ฟื้นแล้ว มั่นใจครึ่งหลังปี 2554 ปริมาณขายกลับมาโต 40% จากครึ่งปีแรก ออกหุ้นกู้แปลงสภาพไม่เกิน 2,250 ล้านบาทเพื่อสร้างความแข็งแกร่งระยะยาว และลงทุนปรับปรุงเพิ่มเติมเตาถลุงเหล็กของโรงงานสหวิริยาสตีลทีไซด์ ที่ประเทศอังกฤษ พร้อมเปิดถลุงเหล็กสิ้นปีนี้
นายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 2/2554 ว่า เอสเอสไอและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและบริการรวม จำนวน 9,511 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20 จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนของเอสเอสไอมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 391 ล้านบาท สาเหตุจากปัจจัยลบภายนอก 3 ประการ
ส่วนธุรกิจโรงถลุงเหล็กของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี สหราชอาณาจักร จำกัด หรือ เอสเอสไอ ยูเค ขาดทุนสุทธิ จำนวน 662 ล้านบาท สาเหตุจากค่าใช้จ่ายก่อนเริ่มดำเนินการถลุงเหล็กตามที่ได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว สำหรับงวดครึ่งแรกของปี เอสเอสไอและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและบริการรวม 21,528 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการขายของเอสเอสไอจำนวน 19,680 ล้านบาท ลดลง 5,920 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23 จากงวดเดียวกันของปีก่อน
“ในไตรมาส 2/2554 นี้ อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศอยู่ในภาวะลำบาก มีปัจจัยลบต่างๆ ที่กระทบต่อผลประกอบการ ได้แก่ 1) การปรับตัวสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ออสเตรเลีย ในขณะที่ภาครัฐควบคุมราคาขายทำให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมภายในประเทศไม่สามารถปรับราคาขายเหล็กแผ่นรีดร้อนได้ครอบคลุมกับต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น 2) มีการหลีกเลี่ยงภาษีโดยการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอนจากประเทศจีนจำนวนมากเข้ามาทุ่มตลาดแย่งส่วนแบ่งตลาด
3) เหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กแผ่นคุณภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิคส์ลดลง ซึ่งกระทบกับฐานตลาดเป้าหมายของเอสเอสไอโดยตรง และทำให้เอสเอสไอขาดทุนในไตรมาสที่ 2/2554 โดยเอสเอสไอสามารถผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนได้ถึง 329,963 ตันซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาด ภายในประเทศ หรือคิดเป็นปริมาณการขายลดลงในอัตราร้อยละ 39 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเอสเอสไอมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 6 ราย พร้อมกับเน้นการขายผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มกับลูกค้า (Premium Value Products) ได้ถึงสัดส่วนร้อยละ 32 ของยอดขาย
สำหรับการรับรู้ส่วนแบ่งกำไร/ ขาดทุนจากผลการดำเนินงานของบริษัทร่วมทุนและบริษัทย่อยในไตรมาส 2/2554 นั้น เอสเอสไอรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจาก บริษัท เหล็กแผ่นรีดเย็นไทย จำกัด (มหาชน) (TCRSS) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน จำนวน 21.3 ล้านบาท และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัท เวสท์โคสท์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (WCE) ซึ่งขยายธุรกิจวิศวกรรมบริการและซ่อมบำรุงไปยังลูกค้าภายนอกทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 9.0 ล้านบาท จากบริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด (PPC) ซึ่งเป็นธุรกิจท่าเรือนํ้าลึก จำนวน 11.1 ล้านบาท และรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี สหราชอาณาจักร จำกัด หรือ เอสเอสไอ ยูเค จำนวน 691 ล้านบาท
นายวินกล่าวว่า เอสเอสไอจะยังคงตั้งเป้าหมายปริมาณขายในครึ่งหลังของปีนี้โตขึ้น 40% จากครึ่งปีแรก ที่จำนวน 1.2 ล้านตันเท่ากับครึ่งหลังของปี 2553 โดยเชื่อมั่นถึงแนวโน้มในทางบวกต่อผลประกอบการ เนื่องจากการได้รัฐบาลใหม่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งภาคราชการก็ได้ดำเนินการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อน และการเร่งไต่สวนการทุ่มตลาดของเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอนจากประเทศจีน ตลอดจนการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ประสบปัญหาจากภัยพิบัติสึนามิ ทั้งนี้มั่นใจค่าการรีดในไตรมาส 3 กลับมาระดับปกติ เนื่องจากสถานการณ์ตลาดฟื้นกลับมาแล้ว
“ไตรมาสที่ 2/2554 เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศซึ่งเอสเอสไอพยายามดำเนินธุรกิจให้ได้รับผลกระทบน้อยสุด และขณะนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นสำหรับครึ่งปีหลัง เนื่องจาก 1) การได้มาซึ่งรัฐบาลใหม่ที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจจากนักลงทุน และการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยโครงการต่างๆ จากภาครัฐ
2) การดำเนินมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดต่อประเทศจีน ทั้งการประกาศผลขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 บังคับใช้การเรียกเก็บอากรทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนจากประเทศจีนในอัตรา 30.19% และการเร่งสอบสวนการทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอนจากประเทศจีนที่น่าจะมีมาตรการฉุกเฉินในเร็ววันนี้ ซึ่งจะช่วยสกัดกั้นการทุ่มตลาดดังกล่าวได้ 3) กำลังซื้อที่กลับมาของอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิคส์ หลังประสบปัญหาอันเนื่องมาจากภัยพิบัติสึนามิ” นายวินกล่าว
นายวินเปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินการของโรงงานสหวิริยาสตีลทีไซด์ ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสินทรัพย์โรงงานถลุงเหล็กและเหล็กกล้าครบวงจร Teesside Cast Products (TCP) ซึ่งเอสเอสไอได้ซื้อมาจากกลุ่มทาทาสตีล ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา และรับมาดำเนินการในฐานะของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ยูเค จำกัด หรือ เอสเอสไอ ยูเค นั้น ในไตรมาส 2/2554 มีรายได้จากการขายถ่านโค้ก (Coke) และรายได้จากการรับจ้างผลิตถ่านโค้ก จำนวน 1,677 ล้านบาท
ซึ่งปัจจุบันบริษัทดำเนินการผลิตโค้กตามปกติแต่ยังอยู่ในระหว่างการเตรียมการเริ่มการถลุงเหล็ก จึงต้องยอมรับภาระต้นทุนคงที่และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของธุรกิจในส่วนที่ยังไม่ได้ผลิต ในส่วนการเตรียมการเพื่อเริ่มการถลุงเหล็กมีความคืบหน้าไปมาก โดยคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการถลุงเหล็กและผลิตเหล็กแท่งแบนได้ประมาณเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งปรับเลื่อนจากแผนเดิมไปประมาณ 2 เดือนเนื่องจากต้องการลงทุนเพิ่มเติมโดยนำกิจกรรม Blast Furnace Reline มาดำเนินการเลย ทำให้ไม่จำเป็นต้องหยุดการผลิตเพื่อ reline blast furnace อีกในปี 2560 ส่งผลให้สามารถเปิดใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุดต่อเนื่องได้ไปอีกเป็นเวลา 15-20 ปี
รวมทั้งสามารถลดต้นทุนการผลิตและสามารถดำเนินการผลิตได้อย่างมีเสถียรภาพที่อัตราการผลิต 3.6 ล้านตันต่อปี สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ 3.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะยิ่งเสริมความแข็งแกร่งและสร้างความได้เปรียบของเอสเอสไอในจุดแข็งทางด้านเหล็กแผ่นชั้นคุณภาพพิเศษ พร้อมที่จะรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ ตลอดมีฐานธุรกิจที่มีศักยภาพที่จะขยายกำลังการผลิตและส่วนแบ่งตลาด มีความสามารถสูงในการตอบสนองตลาดและบริการลูกค้า และเป็นผู้ผลิตเหล็กแผ่นครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน และเป็นบริษัทเหล็กระดับโลกรายแรกในอาเซียน ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างยั่งยืน
เพื่อลงทุนและปรับปรุงเตาถลุงดังที่กล่าวมาข้างต้น เอสเอสไอ ยูเค จำเป็นต้องจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมเป็นจำนวนรวมประมาณ 140,000,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งประกอบไปด้วยการกู้ยืมเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินจำนวนประมาณ 90,000,000 เหรียญสหรัฐฯ และเงินทุนที่ได้จากการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่เอสเอสไอ อีกจำนวนประมาณ 50,000,000 เหรียญสหรัฐฯ
ดังนั้น เอสเอสไอจึงมีแผนที่จะออกและเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพ ประเภทด้อยสิทธิ อายุไม่เกิน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี มีส่วนเพิ่มของราคาแปลงสภาพ (conversion premium) ประมาณร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 30 ในจำนวนเงินรวมไม่เกิน 2,250,000,000 บาท โดยจะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นในอัตราจัดสรร 11,000 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วยหุ้นกู้แปลงสภาพ ก่อนเสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบัน เพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับการลงทุนเพิ่มเติมในเอสเอสไอ ยูเค