เนื้อหาวันที่ : 2011-08-11 14:32:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2066 views

ส่งออกมองโอกาสส่งออกอาหารไทยในภาวะโลกขาดแคลน

FAO ชี้อนาคตโลกขาดแคลนอาหารอย่างหนัก คาดความต้องการเพิ่ม ราคาพุ่งสูง ส่งออกสบช่องเร่งหาทางเพิ่มผลผลิต พร้อมรักษาคุณภาพหวังรับอานิสงส์

          FAO ชี้อนาคตโลกขาดแคลนอาหารอย่างหนัก คาดความต้องการเพิ่ม ราคาพุ่งสูง ส่งออกสบช่องเร่งหาทางเพิ่มผลผลิต พร้อมรักษาคุณภาพหวังรับอานิสงส์

          ในอนาคตอันใกล้นี้โลกจะประสบกับปัญหาการขาดแคลนอาหารเพราะจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ส่งผลให้ราคาอาหารทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 39% และจากที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO)และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) คาดการณ์ว่าในช่วง 10 ปีนี้ราคาเมล็ดธัญพืชจะสูงขึ้นเป็น 20% ราคาเนื้อจะสูงขึ้น 30% และการผลิตอาหารจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 70% ในปี 2050 เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น

          FAO เผยว่า ราคาอาหารที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากผลผลิตที่ล้มเหลวในหลายภาคส่วนของโลก จากสภาวะอากาศ แปรปรวน ภาวะน้ำท่วมในหลายภูมิภาคของโลก เหตุไฟไหม้ใหญ่ที่รัสเซีย รวมถึงประชากรโลกเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและอินเดีย ชนชั้นกลางในประเทศเหล่านี้เมื่อเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีรายได้ความเป็นอยู่ดีขึ้น

การบริโภคจึงเน้นอาหารที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะความนิยมบริโภคเนื้อสัตว์จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารไปทั้งระบบ กล่าวคือ จากจำนวนแคลอรี่ที่เท่ากัน แคลอรี่จากเนื้อสัตว์จะมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าเมล็ดพืชมาก อีกทั้งจะต้องผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพดเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์อีกด้วย

          นอกจากนี้ ราคาพลังงานยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นทุนอาหารเพิ่มขึ้น เพราะน้ำมันคือองค์ประกอบสำคัญที่ซ่อนอยู่ในทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่การใช้เครื่องยนต์ในการทำไร่ไถนา การใช้ปุ๋ยเคมีที่ได้จากปิโตรเลียม การขนส่ง การปรุงอาหาร ในขณะที่โลกต้องประสบวิกฤติพลังงานอย่างหนักอยู่แล้ว ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้หลายประเทศหันมาส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นพลังงานทางเลือก

และด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดการแย่งชิงพื้นที่เพาะปลูกเพื่อนำไปผลิตพลังงานแทนที่จะใช้ผลิตอาหาร นอกจากน้ำมันแล้ว น้ำก็เป็นต้นทุนที่สำคัญในกระบวนการผลิตอาหาร แม้ว่าจะสามารถวางแผนระบบชลประทานเพื่อรองรับกับการทำการเกษตรไว้แล้ว แต่ก็ยังส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอยู่ดี

FAO พยากรณ์ว่าในช่วงสิบปีข้างหน้านี้ราคาอาหารโลกโดยเฉลี่ยน่าจะสูงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการอาหารและต้นทุนอาหารที่สูงขึ้น อีกทั้งราคาอาหารในทศวรรษหน้าจะยิ่งมีความผันผวนมากขึ้น จากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม FAO ได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนทั้งด้านการผลิต การวิจัยเพื่อรักษาพื้นที่การเกษตรเอาไว้ การเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นทันกับความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งการหารือร่วมกันถึงวิธีการเก็บสต็อกสินค้าเกษตรและอาหารเอาไว้ใช้ในยามจำเป็น

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จากแนวโน้มความรุนแรงของความมั่นคงทางด้านอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลก จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรไทยในภาพรวมสูงขึ้นประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และหากเกิดปัญหาภัยพิบัติ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม โรคระบาดซ้ำอีกครั้งในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกที่เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในภาพรวมสูงพุ่งสูงขึ้นไปอีก

โดยคาดว่ายอดส่งออกอาหารในปี 2554 จะมีมูลค่ากว่า 855,000 ล้านบาท มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 6.5 ใกล้เคียงกับปี 2553 ที่มีอัตราเติบโตร้อยละ 6.4 ชี้ได้ถึงอานิสงส์เศรษฐกิจโลกขยายตัวร้อยละ 4.4 และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้มีความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็อาจต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านวัตถุดิบขาดแคลนและมีราคาแพงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศและราคาพลังงาน ทั้งภาวะเงินเฟ้อ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยล้วนกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ทั้งสิ้น ผู้ประกอบการไทยควรทำแผนบริหารความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อให้รับมือได้ทัน

นอกจากนี้ ควรจับตาวิกฤตินิวเคลียร์ในญี่ปุ่นและภูมิอากาศแปรปรวนซึ่งเป็นโอกาสส่งออกอาหารไทยทั้งสิ้น จากข้อมูลพบว่า การนำเข้าอาหารของญี่ปุ่นในปี 2553 ญี่ปุ่นนำเข้าอาหารจากทั่วโลกมูลค่า 51,327 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งนำเข้าอาหารสำคัญอันดับ 1 มูลค่าถึง 12,070 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 24% ของมูลค่าที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากทุกแหล่ง จีนมีสัดส่วน 14% ส่วนไทยมีสัดส่วน 6.6% (มูลค่าสินค้าอาหารจากไทยมีมูลค่า 3,383 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

          "ความต้องการอาหารที่มากขึ้น จึงสวนทางกับปริมาณการผลิตที่ไม่สามารถรองรับความต้องการดังกล่าวได้ ด้วยข้อจำกัดมากมายทั้งในแง่พื้นที่ ปริมาณน้ำ คุณภาพดิน เทคโนโลยีที่นำมาใช้ ในอนาคตอันใกล้โลกจึงมีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหารเข้าขั้นรุนแรง ทางออกของวิกฤตินี้จึงอยู่ที่การหาวิธีการใหม่ๆ มาเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น หากเราสามารถบริหารจัดการระบบการผลิตได้อย่างมีคุณภาพครอบคลุมทั้งระบบ โอกาสการต่อรองในตลาดก็ย่อมมีสูงขึ้น ประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางด้านอาหารและสามารถเพิ่มผลผลิตป้อนประชากรโลกได้ทันต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

          อย่างไรก็ตาม ในอนาคตนอกจากจะต้องเผชิญปัญหาด้านพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัดและใกล้หมดลง ยังต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศไทยในฐานะที่เป็นฐานผลิตอาหารแหล่งสำคัญป้อนประชากรโลก มีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์และสภาพอากาศที่เหมาะสมสำหรับการทำเกษตรกรรม ควรเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะแผนการผลิตในภาพรวมให้สอดคล้องกับฤดูกาลหรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบน้ำให้พอเพียง เน้นการวิจัยเพื่อหาพันธุ์พืชที่ทนแล้ง ต้านทานโรคระบาด ศึกษาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต สนับสนุนการนำไบโอเทคโนโลยีมาใช้ในภาคเกษตรมากขึ้น และหากเราสามารถบริหารจัดการระบบการผลิตได้อย่างมีคุณภาพครอบคลุมทั้งระบบ โอกาสการต่อรองในตลาดก็ย่อมมีสูงขึ้น ประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางด้านอาหารและสามารถเพิ่มผลผลิตป้อนประชากรโลกได้ทันต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี” นางนันทวัลย์ กล่าวเพิ่มเติม