สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ (8 สิงหาคม - 12 สิงหาคม 54)
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์ที่ 1-5 ส.ค. 54 ปรับตัวลดลงทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.67 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 108.12 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เฉลี่ยลดลง 4.93 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 112.62 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล
น้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เฉลี่ยลดลง 7.05 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรลอยู่ที่ 90.82 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูปลดลงทุกชนิด โดยเบนซินลดลง 3.21 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 124.26 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 2.52 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 127.23 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Dow Jones Industrial ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเฉลี่ยจากสัปดาห์ก่อนประมาณ 4.95% (ลดลง 611.23 จุด) อยู่ที่ระดับ 11,744.77 จุด
- สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor’s (S&P) ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน (Credit Rating) ของประเทศสหรัฐฯ จาก AAA มาอยู่ที่ AA+ เป็นการปรับลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ พ.ศ. 2484
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรม (Factory Orders) ในเดือน มิ.ย. 54 ลดลง 0.8% (M-O-M) อยู่ที่ 440,694 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยลดลงครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน (เดือน พ.ค. 54 เพิ่มขึ้น 0.6%)
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานการใช้จ่ายของผู้บริโภค (Consumer Spending) ในเดือน มิ.ย. 54 ลดลง 0.2% นับเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน ก.ย. 52
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Purchasing Manager Index) ของยุโรปเดือน ก.ค. 54 ลดลงจากระดับ 52.0 จุด ในเดือนก่อนมาอยู่ที่ 50.4 จุด (ต่ำสุดตั้งแต่ ก.ย. 52)
- สำนักงานสถิติแห่งชาติรัสเซียรายงานปริมาณผลิตน้ำมันดิบในช่วงเดือน ก.ค. 54 อยู่ในระดับสูงที่ 10.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน และนักวิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณผลิตน้ำมันดิบในปี 2554 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 1.1% อยู่ที่ระดับ 10.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- อัตราว่างงานของสหรัฐในเดือน ก.ค. 54 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 0.1% อยู่ที่ระดับ 9.1%
- UK Consultancy Oil Movements รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบทางเรือของ OPEC (ไม่รวม Angola และ Ecuador) เฉลี่ยสี่สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ส.ค. 54 ปรับตัวลดลง 150,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 22.78 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Reuters Poll รายงานโรงกลั่นชั้นนำ 12 แห่ง ในประเทศจีน (กำลังการกลั่นรวม 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ) มีแผนเพิ่มกำลังการกลั่นในเดือน ส.ค. 54 มาอยู่ที่ระดับ 2.89 ล้านบาร์เรลต่อวัน (กำลังการกลั่นเพิ่มขึ้น 6% เดือน-ต่อ-เดือน)
- Ministry of Industry and Information Technology ของจีนคาดการณ์ความต้องการน้ำมันดิบของโรงกลั่นในปี 2554 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 8.5% อยู่ที่ระดับ 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ และนับเป็นครั้งแรกในรอบสัปดาห์หลังจากปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องกว่า 8% โดยนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการลุกลามของวิกฤตหนี้ในยุโรป โดยล่าสุดสหรัฐฯประกาศตัวเลขอัตราว่างงานในเดือน ก.ค. 54 ลดลงสู่ระดับ 9.1% จากเดือน มิ.ย. 54 ที่ระดับ 9.2% ประกอบกับธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) แสดงความพร้อมที่จะดำเนินการซื้อพันธบัตรอิตาลี อย่างไรก็ตามแนวโน้มราคาในระยะสั้นคาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI จะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 100-108 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และ 80-87 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ตามลำดับ
ทั้งนี้คาดว่าราคายังถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจากการที่บริษัทสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ลดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินในระยะยาวของสหรัฐฯ จากระดับ ทริเปิลเอ (AAA) ลงมาเหลือ ดับเบิลเอเอพลัส (AA+) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่สหรัฐฯ ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินโดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อสกุลเงินดอลลาร์ และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ที่ปรึกษาของธนาคารกลางจีนเชื่อมั่นว่าการลดอันดับความน่าเชื่อถือนี้อาจผลักดันให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณ (Quantitative Easing 3) สูงขึ้นเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นพันธบัตรระยะยาว ซึ่งอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ