1. ธปท. รายงานว่าภาวะสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานภาวะสินเชื่อของสถาบันการเงินและ Non-Banks ในไตรมาสที่ 2 ว่าความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ขณะที่ความต้องการสินเชื่อภาคครัวเรือนทุกประเภทเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเช่นกัน
โดยความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น มุมมองแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ดีขึ้นและเงื่อนไขการกู้ยืมที่ผ่อนคลายลง สำหรับแนวโน้มภาวะสินเชื่อในไตรมาสที่ 3 ปี 54 คาดว่าความต้องการสินเชื่อโดยรวมจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสปัจจุบัน สำหรับสินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่อครัวเรือนทุกประเภท จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ให้สินเชื่อหรือภาคธนาคารก็ปรับตัวดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินครั้งล่าสุด ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 53 ทั้งในส่วนของสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อผู้บริโภค ที่ขยายตัวร้อยละ 14.8 และร้อยละ 13.9 จากปีก่อนหน้า ในเดือน มิ.ย. 54 ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่า อุปสงค์จากในและนอกประเทศที่จะขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งหลังของปี 54 จะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะส่งผลให้สินเชื่อปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 54
2. ธนาคารกลางญี่ปุ่นคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0- 0.1พร้อมเข้าแทรกแซงให้เงินเยนอ่อนค่า
- ที่ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับร้อยละ 0 - 0.1 รวมทั้งผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยได้ตัดสินใจลดระยะเวลาการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายที่มีกำหนด 2 วัน เหลือเพียงแค่วันเดียว ทั้งนี้ การตัดสินใจร่นระยะเวลาการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นมีขึ้นหลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการเทขายเงินเยนและซื้อสกุลเงินดอลลาร์ใน โดยมีเป้าหมายที่จะยับยั้งการแข็งค่าของเงินเยนซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
- สศค. วิเคราะห์ว่า ถึงแม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวขึ้นมากหลังภัยพิบัติสึนามิ โดยเฉพาะในหมวดการผลิตภาคอุตสาหกรรม แต่โดยรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเปราะบางและมีความเสี่ยง การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยเอื้อให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวได้
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนกลับแข็งค่าขึ้นมาก โดยแข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 5 จากต้นปี เนื่องจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกจากวิฤติหนี้สาธารณะในยุโรป ประกอบกับความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีความขัดแย้งในการปรับเพดานหนี้สาธารณะ ทำให้นักลงทุนปรับพอร์ทการลงทุนมาลงทุนยังสินทรัพย์ของสกุลเงินที่ปลอดภัย เช่นเงินเยนและเงินฟรังค์สวิส
ทั้งนี้ ค่าเงินเยนที่แข็งค่าเป็นอุปสรรคในการฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยเฉพาะในการส่งออกและท่องเที่ยว จึงทำให้ธนาคารกลางของญี่ปุ่นต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินดังกล่าว อนึ่ง ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ 2 ในสัปดาห์นี้ที่ทางการออกมาประกาศว่าจะเข้าแทรกแซงค่าเงิน หลังจากธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์เข้าแทรกแซงค่าเงินฟรังค์สวิสที่แข็งค่าถึงกว่าร้อยละ 16 จากต้นปี
3. การส่งออกมาเลเซียในเดือน มิ.ย. 54 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 8.6 จากปีก่อนหน้า
- การส่งออกของมาเลเซียในเดือน มิ.ย. 54 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขยายตัวสูงกว่าคาดการณ์ และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 จากปีก่อนหน้า โดยเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกน้ำมันปาล์ม ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ เป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้าขยายตัวในอัตราที่ชะลอกว่าการส่งออกที่ร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้นในเดือน มิ.ย. 54 สะท้อนอุปสงค์จากนอกประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งหากวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียด พบว่าการส่งออกไปคู่ค้าหลักโดยรวมปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน และจีน ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง จากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงในช่วงดังกล่าว
นอกจากนี้การส่งออกไปยังญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 3 รองจากจีน และสหภาพยุโรป ในเดือน มิ.ย. 54 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.5 จากปีก่อนหน้า สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสนามิในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 54 การส่งออกของมาเลเซียน่าจะปรับตัวดีขึ้น
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง