เนื้อหาวันที่ : 2011-08-05 10:14:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 909 views

ป.ป.ช. คลอดกฎหมายใหม่ยกระดับต้านคอร์รัปชั่น

ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น สนับสนุนกฎหมาย ป.ป.ช. ใหม่ ยกระดับ การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น เทียบเท่ามาตรฐานโลก พร้อมจัดตั้งสำนักงานภาคีฯ

          ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น สนับสนุนกฎหมาย ป.ป.ช. ใหม่ ยกระดับ การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น เทียบเท่ามาตรฐานโลก พร้อมจัดตั้งสำนักงานภาคีฯ

          ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น สนับสนุนกฎหมาย ป.ป.ช. ใหม่ ยกระดับ การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น เทียบเท่ามาตรฐานโลก พร้อมจัดตั้งสำนักงานภาคีฯ ที่หอการค้าไทย เตรียมพร้อมรบเต็มที่

          ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น สนับสนุนกฎหมาย ป.ป.ช.ใหม่ ที่จะช่วยยกระดับการดำเนินงาน ภารกิจป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศในภาพรวม ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และดำเนินการจัดตั้ง สำนักงานศูนย์ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น เพื่อเป็นศูนย์กลางดำเนินการ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมการต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง

          นายดุสิต นนทะนาคร ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น เปิดเผยว่า “จากการที่ภาครัฐได้มีการกระตุ้นหน่วยงานต่างๆ ปรับปรุงมาตรการป้องกันความเสี่ยงของการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการภาครัฐ และความต้องการของภาคประชาชนที่ต้องการความโปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

ทั้งนี้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้องการปรับปรุงกฎหมายที่จะเพิ่มระดับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มากขึ้น จึงได้เสนอให้มี พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 และได้มีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะช่วยยกระดับภารกิจการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

          “โดยเฉพาะในมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้” และมาตรา 103/8 บัญญัติว่า

          “ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ หากหน่วยงานของรัฐใดฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการ ให้ถือว่าผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องมีความผิดทางวินัย หรือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งหรือต้องพ้นจากตำแหน่งแล้วแต่กรณี”

          ซึ่งการจัดตั้งกฎหมายดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาคีฯ ในการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ”

          นายดุสิต ยังกล่าวเสริมอีกว่า “ประเด็นสำคัญจากการประกาศใช้กฎหมายคือ จะเพิ่มกลไกและเครื่องมือใหม่ๆ ในการต่อต้านการทุจริต เช่น การคุ้มครองพยาน และการกันบุคคลไว้เป็นพยานในคดีการกระทำทุจริต การเพิ่มอำนาจการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้กระทำทุจริต ที่ถือครองหรือครอบครองเอง ไปจนถึงการตรวจสอบทรัพย์สินที่ให้ผู้อื่นหรือนอมินีถือแทน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล ตามพันธกรณีที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNCAC) รวมถึงการพัฒนาระบบงานด้านการไต่สวนให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยจัดแบ่งการทำงานของกระบวนการแสวงหาหรือตรวจสอบข้อเท็จจริง กับกระบวนการไต่สวนออกจากกันอย่างชัดเจน ซึ่งจะให้การบริหารงานคดีทุจริตมีประสิทธิภาพและความเป็นธรรมยิ่งขึ้น นอกจากนี้การที่กฎหมายกำหนดให้เริ่มมีคณะกรรมการ ป.ป.ช.จังหวัด หลังวันประกาศใช้กฎหมาย 2 ปี เพื่อสรรหาคนเก่ง คนดี มีคุณธรรมในแต่ละจังหวัดมาดำเนินงานต่อต้านการทุจริต จะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริตมากยิ่งขึ้น

ประการสุดท้าย กฎหมายยังกำหนดให้เพิ่มมาตรการป้องกันการทุจริตตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นโครงการ รวมทั้งยังกำหนดให้ต้องมีการประกาศสูตรคำนวณราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ การรายงานค่าใช้จ่ายของโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐต่อกรมสรรพากร ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งผลดีที่เกิดขึ้นจากการประกาศใช้กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับดังกล่าว จะช่วยยกระดับการดำเนินงานภารกิจป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศในภาพรวมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่นานาประเทศให้การยอมรับ

          ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น พร้อมสนับสนุน กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่นี้เต็มที่ ซึ่งขณะนี้ ได้เข้าร่วมกับกระทรวงการคลัง ในการดำเนินโครงการนำร่องตามแนวร่วมปฏิบัติต่อต้านทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Collective Action) รวมทั้งจะเป็นศูนย์กลางในการเชิญชวนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สังคม และสื่อมวลชน เข้ามามีส่วนร่วมกับการดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่นี้ด้วย

พร้อมกับได้จัดทำภาพยนตร์โฆษณา “การต่อต้านคอร์รัปชั่น” ความยาว 60 วินาที เผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์ และได้จัดทำสปอตวิทยุ ความยาว 30 วินาที เผยแพร่ทางสถานีวิทยุ ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนให้ได้รับทราบอย่างกว้างขวาง โดยจะเริ่มเผยแพร่ตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป

          นายดุสิต กล่าวสรุปเพิ่มเติมว่า “ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ได้ดำเนินการจัดตั้ง สำนักงาน ศูนย์ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ขึ้นชั่วคราว ที่ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เลขที่ 150 ถ.ราชบพิธ แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กทม. และมีการจัดหาผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการรับเรื่องร้องเรียนและประสานงานกับภาคีเครือข่ายทั้งหมด เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ในการต่อต้านคอร์รัปชั่นต่อไป นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงพลัง และเสนอความคิดเห็นหรือแจ้งเบาะแสผ่านทางเฟซบุคส์ ThaiAntiCorruption หรือตู้ปณ.000 ปณ.มหาดไทย กรุงเทพฯ 10206”