เหตุการณ์วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล และฟุกุชิมะ ถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นร้อนในการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยเกิดข้อถกเถียงอย่างก้าวขว้างในช่วงที่ผ่านมา
“ไม่มีความปลอดภัย เหมือนระเบิดนิวเคลียร์”
“ทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และอาชีพของชุมชน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า”
“ตั้งเพื่อใคร เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากโรงไฟฟ้าน้อย ขณะที่ภาคที่ใช้ไฟฟ้ามาก คือภาคธุรกิจ กับอุตสาหกรรม”
“ภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่ได้รับทราบข้อมูลแต่แรก”
นี่เป็นส่วนหนึ่งของการตั้งคำถามจากภาคประชาชนต่อการแจ้งเกิดของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย และเป็นคำถามที่ภาครัฐต้องให้ความกระจ่างต่อคำถามเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา เพราะจะว่าไปแล้ว หากเรากลับกระบวนการคิดใหม่ โดยนำประเด็นปัญหาที่ประชาชนตั้งขึ้นมาเป็นโจทย์และหาคำตอบเพื่อแก้โจทย์ให้สำเร็จก็อาจเป็นแนวทางสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืนได้อีกทางหนึ่ง
“เท่าที่ได้ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ส่วนใหญ่แล้วพบว่าปัญหาที่เป็นข้อห่วงกังวลคือ โรงไฟฟ้ามีระบบความปลอดภัยไม่เพียงพอ ยังไม่มีวิธีกำจัดกากกัมมันตรังสีที่ดี มีการทำลายฐานทรัพยากรของท้องถิ่น เช่น ผลิตผลทางการเกษตรเสียหาย ทำลายระบบนิเวศ ปะการัง และสัตว์น้ำ ทำลายอาชีพของคนในพื้นที่ฯ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องอาศัยระยะเวลาและกลยุทธ์ในการสื่อสารสาธารณะ ในการทำความเข้าใจ และให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ต้องมีการส่งข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงทั้งข้อดีและข้อเสียถึงผู้รับสารโดยตรงอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ปิดกั้นข่าวสารด้านที่ไม่สนับสนุน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน
ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรนั้นก็เป็นเรื่องของประชาชนเอง” นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ กล่าวถึงบทบาทหน้าที่สำคัญในฐานะภาครัฐที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ และตอบโจทย์เรื่องการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ตามข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส่ และรอบด้านทั้งข้อดี และข้อเสีย เพื่อให้ข้อมูลพื้นฐานเพียงพอในการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อตัดสินใจว่าในอนาคตประเทศไทยสมควรมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หรือไม่
•ปลอดภัย-ไม่ปลอดภัย
เริ่มที่โจทย์แรก เรื่องความปลอดภัย เป็นประเด็นหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันในเรื่องเอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพราะผู้คนยังฝังจำกับภาพโรงไฟฟ้าฯ เชอร์โนบิล ประเทศสหภาพโซเวียตระเบิด ซึ่งข้อเท็จจริงในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์รุ่นใหม่จะเป็นรุ่นที่ 3 ซึ่งต่างจากเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าฯ เชอร์โนบิลซึ่งเป็นรุ่นที่ 1 คือเปลี่ยนจากระบบเปิดเป็นระบบปิด กล่าวคือ การลงทุนจะเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นลำดับแรก หากมีสิ่งผิดปกติจะมีการดับเครื่องโรงไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ มีการก่อสร้างปราการป้องกันรังสีรั่วไหล ซึ่งชั้นที่สำคัญคือ ชั้นที่สี่ มีเหล็กกล้าหนาอย่างน้อย 20 เซ็นติเมตรเป็นโครงสร้างคลุมตัวเตาปฏิกรณ์เอาไว้ และชั้นนอกสุดก็มีอาคารคลุมเตาปฏิกรณ์ซึ่งทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กหนาประมาณ 2 เมตรคลุมไว้อีกชั้น
ทั้งนี้ มีการทดสอบความแข็งแกร่งของโรงไฟฟ้า สามารถทนต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติในหลายรูปแบบ อาทิ ทนต่อระดับแผ่นดินไหวที่กำหนด และสามารถทนต่อการชนของเครื่องบินไอพ่น ภัยธรรมชาติ การก่ออาชญากรรมหลากหลายรูปแบบ ซึ่งการดำเนินการทุกขั้นตอนต้องเป็นไปตามมาตรฐานการกำกับดูแลภายใต้ พ.ร.บ. ปรมาณูเพื่อสันติของไทย และของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA) ซึ่งเป็นองค์กรสากลของสหประชาชาติ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศสมาชิกให้ได้มาตรฐานสากลและมีความปลอดภัยเพียงพอ
นอกจากนี้ ความทันสมัยของเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์รุ่นปัจจุบัน หากมีสิ่งผิดปกติ ระบบของโรงไฟฟ้าก็จะหยุดเดินเครื่องอัตโนมัติ ทำให้เป็นหลักประกันประการหนึ่งว่า นอกจากความปลอดภัยจากเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีความแข็งแรงแล้ว ยังมีวิธีการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีความปลอดภัยด้วย รวมทั้งเป็นระบบอยู่เฉยๆ (Passive) หากมีการดับเครื่องก็จะมีปริมาณน้ำจำนวนมากตกลงมาที่แท่งเชื้อเพลิงเพื่อมิให้เกิดการหลอมละลาย
ประเด็นเรื่องการกำจัดกากกัมมันตรังสีที่มีรังสีสูงซึ่งที่ถูกต้องควรเรียกว่าเชื้อเพลิงที่ใช้แล้ว โดยตัวรังสีสูงที่มีอันตรายจะถูกเก็บอยู่ไว้ในแท่งเชื้อเพลิงซึ่งใช้แล้วหลังจากเดินเครื่องไปแล้ว 18 เดือน จะมีการนำแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วออกประมาณ 1 ใน 3 นำมาแช่ในสระน้ำซึ่งอยู่ภายในโรงไฟฟ้า การแช่น้ำทำให้อุณหภูมิของแท่งเชื้อเพลิงเย็นลง และจะลดระดับรังสีสูงลงจนอยู่ในขั้นที่ปลอดภัย โดยใช้ระยะเวลาในการนำแช่น้ำไว้ประมาณ 5-10 ปี หลังจากนั้นก็จะนำขึ้นมาทำให้แห้งแล้วนำไปเก็บในกระบอกโลหะสแตนเลสและจัดเก็บไว้ข้างโรงไฟฟ้า สำหรับประเทศแถบยุโรปบางประเทศ เช่น ฟินแลนด์ จะเก็บไว้ใต้พื้นดินหรือชั้นหินลึกอย่างน้อยประมาณครึ่งกิโลเมตรเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ส่วนประเด็นเรื่องอันตรายที่น่าจะเหมือนระเบิดนิวเคลียร์นั้น ข้อเท็จจริงก็คือ ความเข้มข้นของยูเรเนียม 235 ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นั้นมีความเข้มข้นเพียงประมาณ 3-5% ขณะที่การทำเป็นระเบิดนิวเคลียร์ต้องมีความเข้มข้นของยูเรเนียม 235 ถึงประมาณ 90-95% ขึ้นไป
สำหรับกากกัมมันตรังสีระดับกลางและต่ำที่ปนเปื้อนอยู่ตามอุปกรณ์ เช่น ไส้กรองน้ำ เสื้อผ้า และถุงมือ ก็จะนำมาหลอมรวมกับซีเมนต์ และเก็บไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม
“ฉะนั้นตอบได้เลยว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เป็นการนำพลังงานปรมาณูมาใช้ในทางสันติ เป็นกิจการเพื่อใช้สำหรับผลิตไฟฟ้าไม่เกี่ยวกับกิจการพัฒนาอาวุธเหมือนที่เข้าใจกัน”
ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยโดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติก็ดำเนินโครงการปรมาณูเพื่อการวิจัยขนาด 1 เมกะวัตต์มาเป็นระยะเวลากว่า 50 ปีแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 แต่ส่วนใหญ่ไม่เป็นที่รับทราบของคนทั่วไป โดยเป็นโครงการที่นำพลังงานปรมาณูมาใช้เพื่อการวิจัยในรูปของรังสีเพื่อการแพทย์ การเกษตร และอุตสาหกรรม เช่น การถนอมอาหาร อัญมณี เป็นต้น ซึ่งเป็นการพิสูจน์ได้ทางหนึ่งว่าพลังงานนิวเคลียร์สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้แก่มวลมนุษย์ และมีความปลอดภัยเพียงพอ หากมีมาตรการกำกับดูแลที่ดีและดำเนินการก่อสร้างและการเดินเครื่องตามขั้นตอนที่กำหนดตามมาตรฐานสากลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด
ในบทความครั้งหน้าจะขอพูดลงรายละเอียดถึงระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ตามมาตรฐานระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลพลอยได้จากโรงพลังงานนิวเคลียร์ด้านอื่นๆ
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน