1. ชูสิ่งทอขึ้นผู้นำอาซียน
- ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เผยว่า สถาบันและภาคเอกชนได้ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ วางตำแน่งบทบาทและยุทธศาสตร์สิ่งทอไทยในทศวรรษแห่งเอเชีย โดยตั้งเป้าหมายให้สิ่งทอไทยมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็น 1 ใน 3 ของเอเชียเทียบชั้นญี่ปุ่นและเกาหลี โดยวาง 6 ยุทธศาสตร์ในช่วง ปี 55-59 ได้แก่ 1) ยุทธสาสตร์การพัฒนาผลิตภันฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 2) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ 3) จัดตั้งศูนย์กลางการค้าเอเซียนในไทย 4) สร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ 5) การยกระดับทุนมนุษย์เชิงบูรณาการ และ 6) การพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ทบทวบกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 54 มูลค่าการส่งออกสิ่งทอขยายตัวร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งได้รับประโยชน์จากการทำข้อตกลงทางการค้า เช่น FTA และ JETPA โดยมีตลาดส่งออกหลักได้แก่ จีน เวียดนาม อาเซียน ยุโรป และอเมริกา ย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการแข็งค่าของค่าเงินบาท และการแข่งขันของตลาดระดับล่างระหว่างกลุ่มจากประเทศกำลังพัฒนาที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าไทย ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดว่ามูลค่าการส่งออกสิ่งทอในปี 54จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 5-10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
2 ธนาคารกลางออสเตรเลียตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 4.75
- ธนาคารกลางออสเตรเลียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมคือ ร้อยละ 4.75 แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ธนาคารกลางยังมีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจของออสเตรเลียมีเสถียรภาพมากที่สุดในเรื่อง ของอัตราดอกเบี้ยตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของออสเตรเลียต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ธนาคารกลางออสเตรเลียต้องใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นระดับร้อยละ 4.75 ตั้งแต่เดือน พ.ย.53 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ด้านอัตราเงินเฟ้อก็ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 2 ปี 54 ยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และหากปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียในปี 54 จะยังคงสามารถเติบโตได้ดีที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.54)
3. ยอดขายรถใหม่ของญี่ปุ่นเดือนก.ค. 54 ลดลงเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันที่ร้อยละ 27.6
- สมาคมผู้ค้ายานยนต์ญี่ปุ่นแถลงว่ายอดขายรถใหม่ของญี่ปุ่น ซึ่งไม่นับรวมรถยนต์ขนาดเล็กในเดือนก.ค. 54 มียอดขายอยู่ที่ 241,472 คัน ลดลงร้อยละ 27.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 23.3 โดยยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลอยู่ที่ 215,265 คัน ลดลงร้อยละ 30 ส่วนยอดขายรถบรรทุกอยู่ที่ 25,281 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และยอดขายรถบัสลดลงร้อยละ 14.7 โดยมียอดขายอยู่ที่ 926 คัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นทำให้ภาคการผลิตของญี่ปุ่นหยุดชะลอตัวลง โดยญี่ปุ่นยังเป็นตลาดนำเข้าหลักโดยเฉพาะอุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์มายังตลาดไทย จึงส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกยานยนต์ของไทยเช่นเดียวกัน สะท้อนได้จากดัชนีการผลิตยานยนต์ของไทยในไตรมาส 2 ปี 54 หดตัวร้อยละ -19.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.5 และสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งในไตรมาส 2 ปี 54 ที่ขยายตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิขไทยในไตรมาส 2 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 54 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.6 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.54)
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจ