3 องค์กรเศรษฐกิจ ให้โจทย์รัฐบาลใหม่ต่อยอดครัวไทย สู่ครัวอาหารปลอดภัยของโลก รับแนวโน้มส่งออกอาหารไทยทะยาน คาดปี 54 แตะ 9 แสนล้านบาท
3 องค์กรเศรษฐกิจ ให้โจทย์รัฐบาลใหม่ต่อยอดครัวไทย สู่ครัวอาหารปลอดภัยของโลก รับแนวโน้มส่งออกอาหารไทยทะยานคาดปี 54 แตะ 9 แสนล้านบาท
สถาบันอาหารคาดปี 54 มูลค่าส่งออกแตะ 9 แสนล้านบาท ส่งสัญญาณรัฐบาลใหม่...ต่อยอดครัวไทย สู่ครัวอาหารปลอดภัยของโลก
3 องค์กรเศรษฐกิจ คาดปี 54 มูลค่าการส่งออกอาหารไทยทะยานถึง 9 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ตามความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ไก่และสัตว์ปีก เครื่อง ปรุงรส ผลิตภัณฑ์ทูน่า รวมทั้งผักผลไม้ทั้งสดและแปรรูปมีแนวโน้มสดใส ขณะที่ปริมาณส่งออกสินค้าบางหมวดมีแนวโน้มหดตัวลง เพราะปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบโดยเฉพาะกลุ่มอาหารทะเล
แนะผู้ประกอบการเกาะติดการแข็งค่าเงินบาท ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐฯและยุโรปยังไม่ฟื้นตัว แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรและอาหารจะแพงขึ้นทั่วโลก เสนอแนวทาง 5 ประการให้รัฐบาลใหม่ พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยเพื่อยกระดับครัวไทยสู่ครัวอาหารปลอดภัยของโลก ด้านสถาบันอาหารเตรียมชูโครงการ “ครัวไทย อาหารปลอดภัยสู่โลก” หรือ Thailand Food Safety Kitchen to the World หวังยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ตลอดจนคุณภาพและโภชนาการ ตอกย้ำภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยกินที่ไหนก็ปลอดภัย
การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ส่งสัญญาณรัฐบาลใหม่ อุตสาหกรรมอาหารและแผนปฏิบัติการ “ครัวไทย ครัวอาหารปลอดภัยของโลก” มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมให้รายละเอียดและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center เพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจเกษตรและอาหารทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
สำหรับภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทยในภาพรวมช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ การแปรรูปผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์นม น้ำมันพืช ผลิตภัณฑ์ขนมอบกรอบ น้ำตาล และอาหารสัตว์สำเร็จรูป ส่วนการผลิตที่หดตัวลง ได้แก่ การแปรรูปสัตว์น้ำ เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ แป้งมันสำปะหลัง และเครื่องปรุงรส
การส่งออกอาหารในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่า 255,250 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในตลาดโลกรวมทั้งราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ผลักดันให้การส่งออกอาหารไทยในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนของไตรมาสนี้ทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่(New high) โดยมีมูลค่าสูงกว่า 90,000 ล้านบาทต่อเดือน สินค้าส่งออกที่ขยายตัวโดดเด่นในไตรมาสนี้ ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย ผลไม้สดและผลไม้แปรรูป
โดยมีอัตราขยายตัวในเชิงปริมาณสูงถึงร้อยละ 71, 45, 23 และ 23 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าส่งออกรายการอื่นๆ อาทิ เนื้อไก่ เครื่องปรุงรส ผักสดและผักแปรรูป มีมูลค่าส่งออกขยายตัวสูงกว่าปริมาณ ส่วนการส่งออกกุ้ง ผลิตภัณฑ์ทูน่า และมันสำปะหลังเป็น 3 กลุ่มสินค้าหลักที่ปริมาณส่งออกลดลง ภาพรวมการส่งออกอาหารในช่วง 6 เดือนแรก ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าในเกือบทุกกลุ่มสินค้า โดยมีปริมาณการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 มีมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ยกเว้นกุ้ง และมันสำปะหลัง ที่มีปริมาณส่งออกลดลงเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ
นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลก โดยจะมีมูลค่าราว 421,912 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวดี เช่น ไก่และสัตว์ปีก น้ำตาลทราย โดยไก่มีชีวิตเริ่มออกสู่ตลาดในระดับใกล้เคียงกับภาวะปกติหลังจากที่ประสบปัญหาผลผลิตลดลงในช่วงไตรมาสที่ 2 ส่งผลทำให้ปริมาณวัตถุดิบปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่น้ำตาลทรายยังมีผลผลิตที่ได้รับการจัดสรรเพื่อการส่งออกได้อีก 2-3 ล้านตันในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนข้าวจะชะลอตัวลง รวมทั้งกลุ่มอาหารทะเลที่ประสบกับปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ โดยภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 3 และ 4 คาดว่าจะมีมูลค่า 212,176 และ 209,735 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 และ 4 ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวที่ชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 24
ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารของไทยตลอดปี 2554 คาดว่าจะมีมูลค่า 900,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 มูลค่าส่งออกในกลุ่มสินค้าหลักๆ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะการส่งออกน้ำตาลทราย ไก่และสัตว์ปีก เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์ทูน่า รวมทั้งผักผลไม้ทั้งสดและแปรรูป เนื่องจากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตของไทยและผลผลิตโลกขยายตัวไม่ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอุปสงค์ส่วนเกินดังกล่าวผนวกกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารทั่วโลกทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วงครึ่งปีหลัง ราคาสินค้าส่งออกที่ผู้ประกอบการได้รับจะยังคงดีต่อเนื่อง
แม้สินค้าอาหารในหลายหมวดจะมีปริมาณส่งออกไม่ขยายตัวโดดเด่น แต่การเพิ่มขึ้นของปัจจัยราคาจะส่งผลทำให้มูลค่าส่งออกขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่มีต่ออุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วงครึ่งปีหลังและต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า อาทิ ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปยังไม่ดีขึ้น แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และปริมาณวัตถุดิบที่หลายอุตสาหกรรมยังมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ รวมทั้งราคาก็เพิ่มสูงขึ้น
นายเพ็ชร กล่าวว่า จากการระดมความคิดเห็นของ 3 องค์กรเศรษฐกิจ ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารจากสมาคมต่างๆ ได้เสนอแนวทาง 5 ประการของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย
เพื่อพร้อมไปสู่การยกระดับ “ครัวไทย สู่ครัวอาหารปลอดภัยของโลก” แก่รัฐบาลใหม่ดังนี้ 1)นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกควรพัฒนาให้เชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ “อาหารไทยเป็นอาหารของโลก” และการยกระดับไปสู่การสร้าง “ครัวไทยเป็นครัวอาหารปลอดภัยของโลก”
2)เพื่อสร้างความยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมอาหาร ควรมีนโยบายพัฒนาเชิงโครงสร้างตั้งแต่วัตถุดิบต่อเนื่องจนถึงการตลาดอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการจัดการให้มีความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่การผลิต(Value Chain) และบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ากับงานด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้เพื่อทดแทนต้นทุนแรงงานและการขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
รวมทั้งการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แนวคิดทางนวัตกรรมทางอาหาร 3)ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า รวมทั้งความปลอดภัยในอาหาร(Food safety)อย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วนเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้าในระดับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC และการเป็นครัวของโลกที่มีมาตรฐาน
4)ดูแลราคาสินค้าวัตถุดิบต้นทาง ตลอดจนสินค้าสำเร็จรูปปลายทางให้สอดคล้องกัน และ 5)ป้องกันปัญหามาตรการทางการค้าที่สัมพันธ์กับภาวะโลกร้อนที่จะมีเพิ่มขึ้นเป็นผลให้เกิดอุปสรรคการค้าและการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร และการตรวจสอบที่มาของแหล่งผลิตและวัตถุดิบ
“สำหรับโครงการครัวไทย อาหารปลอดภัยสู่โลก หรือThailand Food Safety Kitchen to the World เป็นแผนการดำเนินงานที่สถาบันอาหารเตรียมเสนอต่อรัฐบาลใหม่ เพื่อต่อยอดโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก โดยให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัย อาทิ การพัฒนาโรงงานแปรรูปอาหารของไทยเพื่อสร้างศักยภาพในการส่งออก
โดยโรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยต้องได้รับการรับรองระบบ HACCP plus รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าอาหารโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Ready to Eat ที่ตอบสนองแนวโน้มความต้องการของตลาดโลก ทั้งในรูปแบบของ Food for Healthy และ Food for Lifestyle ตลอดจนการเร่งพัฒนาธุรกิจบริการอาหารในประเทศให้ปลอดภัยได้มาตรฐานตาม GMP Mass Catering (Codex) ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั่วโลกได้ว่าอาหารไทยกินที่ไหนก็ปลอดภัย” นายเพ็ชร กล่าว
ที่มา : สถาบันอาหาร