เนื้อหาวันที่ : 2011-08-02 17:59:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 986 views

สกพ.ประกาศ 38 กองทุนพัฒนาไฟฟ้าทั่วประเทศ

สกพ. เผยการกำหนดพื้นที่ประกาและประเภทการบริหารเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าแล้วเสร็จ เตรียมประสาน มท.สรรหาคณะกรรมการ

           สกพ. เผยการกำหนดพื้นที่ประกาและประเภทการบริหารเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าแล้วเสร็จ เตรียมประสาน มท.สรรหาคณะกรรมการ

           สกพ. กำหนดพื้นที่ประกาศและประเภทการบริหารเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าแล้ว 38 กองทุนทั่วประเทศ แยกเป็นกองทุนขนาดใหญ่ 10 กองทุน และกองทุนขนาดกลาง 28 กองทุน โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและจัดสรรเงินกองทุนฯ ด้วยการสรรหาคณะกรรมการฯ ในพื้นที่ร่วมบริหารงานให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับชุมชน เพื่อพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น

           นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กำหนดพื้นที่ประกาศและประเภทการบริหารเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในเขตพื้นที่ประกาศเรียบร้อยแล้ว โดยแยกเป็นกองทุนขนาดใหญ่ หรือประเภท ก จำนวน 10 กองทุน และกองทุนขนาดกลางหรือประเภท ข จำนวน 28 กองทุน

โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ทำหน้าที่บริหารจัดการเงินกองทุนฯ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ชัดเจนและโปร่งใสจึงกำหนดให้มีการสรรหาคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) จำนวน 15 -35 คนประกอบด้วยผู้แทนภาคประชาชนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 1 ใน 3

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนรอบโรงไฟฟ้ามีส่วนร่วมในการบริหารงานกองทุนฯ โดย คพรฟ.จะมีบทบาทและหน้าที่ในการจัดทำและเสนอแผนงานยุทธศาสตร์ แผนงานประจำปีเพื่อใช้ในการพัฒนาและฟื้นฟูท้องถิ่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความเห็นชอบและนำเสนอ กกพ. เพื่ออนุมัติในการ นำเงินกองทุนไปใช้ให้บรรลุเป้าหมายตามความจำเป็นและความต้องการที่แท้จริงของชุมชนต่อไป

          การกำหนดพื้นที่ประกาศว่า พื้นที่ใดที่จะได้รับการจัดสรรเงินกองทุนฯ นั้น ใช้หลักการพิจารณาจากแผนการผลิตไฟฟ้าของแต่ละโรงไฟฟ้าจากศูนย์กลางโรงไฟฟ้าครอบคลุมถึงตำบลโดยรอบโรงไฟฟ้าที่อยู่ในรัศมีของพื้นที่ประกาศ โดยกองทุนประเภท ก จะมีรัศมี 5 กิโลเมตร ปริมาณการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 5,000 ล้านหน่วยต่อปี จำนวนเงินที่จะได้รับมากกว่า 50 ล้านบาท กองทุนประเภท ข รัศมี 3 กิโลเมตร ปริมาณการผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 5,000 ล้านหน่วยต่อปี จำนวนเงินที่จะได้รับ 1 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองประเภทนี้จะอยู่ภายใต้การบริหารกองทุนของ คพรฟ. ส่วนกองทุนประเภท ค จะมีรัศมี 1 กิโลเมตร ปริมาณการผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 100 ล้านหน่วยต่อปี จำนวนเงินที่จะได้รับน้อยกว่า 1 ล้านบาทนั้นเป็นหน้าที่ของผู้แทน อบต. หรือเทศบาลในพื้นที่เป็นผู้อนุมัติโครงการชุมชนที่ได้ผ่านการประชาคมระดับตำบลแล้ว

          นางสาวนฤภัทรกล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือนสิงหาคมนี้ สกพ. จะได้ประสานงานไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความร่วมมือจากนายอำเภอในพื้นที่ต่างๆ ที่มีกองทุนขนาดใหญ่และขนาดกลางเพื่อจัดเวทีประชาคมหมู่บ้านในการสรรหาตัวแทนจากภาคประชาชนจากหมู่บ้านและชุมชนต่างๆ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า โดยจะมีการประกาศรับสมัครผู้มีคุณสมบัติเข้ามาเป็นคณะกรรมการฯ ของกองทุนฯ และการคัดเลือกผู้แทนในเวทีประชาคมหมู่บ้าน

          สำหรับที่มาของเงินของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่จะจัดสรรให้กองทุนในพื้นที่ต่างๆ นั้น กกพ. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้านำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยจำแนกตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในอัตราต่างๆ คือ 1) อัตราการส่งเงินเข้ากองทุนฯ 1 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ กากและเศษวัสดุเหลือใช้ ขยะชุมชนและอื่น ๆ 2) อัตราการส่งเงินเข้ากองทุน 1.50 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมันเตา และน้ำมันดีเซล 3) อัตราการส่งเงินเข้ากองทุน 2 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินหรือลิกไนต์ นอกจากนี้โรงไฟฟ้าที่ได้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าจำนวน 50,000 บาท/เมกะวัตต์/ปีด้วย

          อนึ่ง เป้าหมายของการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อเป็นเงินทุนในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาและฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า การพัฒนาศักยภาพชุมชนการสร้างงานและอาชีพเพื่อสร้างความเจริญให้กับชุมชนเพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยเน้นการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ