เนื้อหาวันที่ : 2011-08-02 11:44:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1470 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 2 ส.ค. 2554

1. อัตราการว่างงานของไทย ณ เดือน มิ.ย.54  ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ ร้อยละ 0.4
-  สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผย ภาวะการทำงานของประชากรประจำเดือน มิ.ย. 54 ว่ามีจำนวนผู้มีงานทำ 38.88 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม 15.38 ล้านคน และภาคนอกเกษตรกรรม 23.05 ล้านคน ในขณะที่อัตราการว่างอยู่ที่ร้อยละ 0.4

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ผลของอัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย. 54 ที่อยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนลดลงโดยมีจำนวนเพียง 3.5 หมื่นคน ลดลงมากจากช่วงปี 53 อยู่ที่ 1.4 แสนคน สะท้อนให้เห็นว่ากำลังแรงงานที่เพิ่งจบการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาคการเกษตรที่เริ่มเข้าสู่ภาวะการเพาะปลูกซึ่งส่งผลให้อัตราการว่างงานในภาคเกษตรกรรมลดลง อย่างไรก็ตาม ภาวการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ถึงการตึงตัวของตลาดแรงงานในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงระยะที่เศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้อัตราการรว่างงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 54 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม

2.  อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค. 54 อยู่ที่ร้อยละ 4.08
-  ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค. 54 ว่า อยู่ที่ร้อยละ 4.08  ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน) เดือน ก.ค. 54 อยู่ที่ร้อยละ  2.59

-  สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค. 54 ที่ทรงตัวในระดับสูงมีสาเหตุจากราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ขยายตัวร้อยละ 7.17 โดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูปและราคาเนื้อสัตว์ที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 8.7 และ 12.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก 1) สภาพอากาศที่ค่อนข้างมีความแปรปรวน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชผักและผลไม้บางชนิดทำให้ราคาสินค้าในหมวดผักและผลไม้ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากปริมาณผลิตที่ลดลง และ 2) ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 7 เดือนแรกปี 54 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.0 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 54 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.3 – ร้อยละ 4.8 ) คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 54   

3. นสพ.ในสหรัฐชี้ข้อตกลงเพิ่มเพดานหนี้ไม่แก้ปัญหาเท่าที่ควร
           -  นสพ.ชั้นนำในสหรัฐฯ วิจารณ์ข้อตกลงเพิ่มเพดานหนี้สินที่ ปธน.บารัค โอบามาและผู้นำสภาคองเกรสผลักดันจนสำเร็จเมื่อ 31 ก.ค.54 โดยระบุว่าเป็นการยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องเกินเหตุของฝ่ายรีพับลิกันหัวอนุรักษ์เพียงช่วยให้รัฐบาลไม่ต้องผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 1 ส.ค.54 และ จะยืดเวลาการอยู่รอดได้จนถึงสิ้นปี 2012 ทั้งนี้ ร่างข้อตกลงดังกล่าวเป็นการปรับเพดานหนี้ขึ้นอีกอย่างน้อย 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากพอที่จะยืดเวลาไปถึงปี 2013 โดยคณะกรรมาธิการคองเกรสจะต้องเสนอแผนตัดงบประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 23 พ.ย.54 ซี่งสภาคองเกรสจะต้องอนุมัติแผนดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน 23 ธ.ค.54

           -  สศค. วิเคราะห์ว่า วิกฤติการเงินส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินอาทิ การคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0 - 0.25 รวมทั้งนโยบายการคลังผ่านการก่อหนี้สาธารณะ และการปรับบัญชีการใช้จ่าย ทั้งนี้ ปัจจุบันหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 99 ของ GDP ซึ่งเป็นการก่อหนี้เต็มเพดาน 14.3 ล้านล้านดอลลาร์ (ตั้งแต่ พ.ค.54) แต่การใช้จ่ายภาครัฐก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาการว่างงานในระดับสูงได้

โดยข้อตกลงเพิ่มเพดานหนี้คาดว่าจะสามารถยืดเวลาเพื่อไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ออกไปได้ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบทางลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ (โดยปัจจุบันมูดีส์คงอันดับไว้ที่ AAA) และจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น อันจะช่วยเอื้อต่อการส่งออกของไทย ทั้งนี้ ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 3 ของไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐกว่าร้อยละ 10.3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง