ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยยอดส่งออกไทยไปจีนครึ่งปีแรกพุ่งสวนทางการนำเข้าของจีนจากตลาดโลก มูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยยอดส่งออกไทยไปจีนครึ่งปีแรกพุ่งสวนทางการนำเข้าของจีนจากตลาดโลก มูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลุ้นครึ่งปีหลังฝ่าด่านเศรษฐกิจมังกรอ่อนแรง
การค้าระหว่างไทย-จีนในเดือนมิ.ย. 2554 พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะ 5,017.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหนือเดือนมี.ค. 2554 ที่มีมูลค่า 5,011.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันเนื่องจากยอดการส่งออกที่ยังคงเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 26.6 (YoY) จากระดับร้อยละ 21.2(YoY) ในเดือน พ.ค.2554 สวนทางทิศทางการนำเข้าโดยรวมของจีนจากตลาดโลกในเดือน มิ.ย.2554 ที่เติบโตชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะสินค้าที่จีนนำเข้าจากไทยด้วยอัตราเร่งยังคงเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรที่จีนกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนหลังจากที่พื้นที่เพาะปลูกของจีนในหลายมณฑลได้รับความเสียหายจากภัยบัติอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา
โดยสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรของไทยไปยังจีนในเดือน มิ.ย.2554 ขยายตัวกว่า 1 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน เช่นเดียวกับกลุ่มสินค้าเกษตรที่เติบโตถึงร้อยละ 40.2 (YoY) อย่างไรก็ตาม ด้วยทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ส่อเค้าอ่อนแรงลงในช่วงครึ่งหลังปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่าภาพรวมการส่งออกของไทยไปจีนในปี 2554 อาจจะชะลอตัวลงจากปี 2553 ที่สูงถึงร้อยละ 33.2 แต่ก็น่าจะสามารถเติบโตได้ด้วยระดับเลขสองหลักที่ประมาณร้อยละ 10-15
ครึ่งแรกปี 2554 : สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยไปจีนโตฉลุย
- H1/2554 ไทยส่งออกไปจีนยังคงแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.8 จากการที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนในไตรมาสที่ 2/2554 ยังสามารถเติบโตได้ที่ระดับร้อยละ 9.5 (YoY) หรือ 2.2 (QoQ) ทำให้เศรษฐกิจจีนในครึ่งแรกปี 2554 เติบโตร้อยละ 9.6 (YoY) ซึ่งแม้จะชะลอตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับระดับร้อยละ 11.1(YoY)ในครึ่งแรกปี 2553 แต่ก็ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะชะลอตัวมากกว่านี้ ทั้งๆที่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อ และมาตรการคุมเข้มทางการเงินของรัฐบาลจีน ส่งผลบวกให้การส่งออกของไทยไปจีนในช่วงครึ่งแรกปี 2554 ยังคงเติบโตด้วยตัวเลขสองหลักที่ระดับร้อยละ 23.8 โดยที่การส่งออกจากไทยไปจีนในเดือนมิ.ย. 2554 ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในอัตราร้อยละ 25.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แตะมูลค่า 2,214.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งใกล้เคียงกับสถิติสูงสุดระดับ 2,344.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนมี.ค.2554
- กลุ่มสินค้าเกษตรก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญใน H1/2554 ด้วยอัตราการเติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 52.4 (YoY) ซึ่งนำโดยสินค้ายางพารา ข้าว ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการที่พื้นที่เกษตรและทำการประมงน้ำจืดในหลายมณฑลของจีนเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหว ภัยแล้ง น้ำท่วม หน้าผาถล่มในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.2554 ทำให้ผลผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคจีน
นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรเองก็ทวีบทบาทเพิ่มมากขึ้นด้วยไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี เครื่องเทศสมุนไพร และสิ่งปรุงรส เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นเพียงกลุ่มสินค้าเดียวที่มีอัตราการเติบโตในอัตราเร่งเหนือช่วงครึ่งแรกปี 2553 ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งครองสัดส่วนเกือบร้อยละ 70 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของไทยไปจีนขยายตัวร้อยละ 17.5(YoY) ในช่วงครึ่งแรกปี 2554 ชะลอตัวลงจากระดับร้อยละ 44.6 ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2553
- ยอดขาดดุลครึ่งแรกปี 2554 พุ่งแตะ 2,374.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงครึ่งแรกปีนี้จะจะสามารถสร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน มี.ค.2554 และเติบโตได้ดีเกินคาดที่ร้อยละ 23.8 (YoY) แต่ขณะเดียวกันการนำเข้าจากจีนใน H1/2554 ก็เร่งตัวขึ้นเช่นกันด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 30 (YoY) โดยการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าทุนคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 ของมูลค่าการนำเข้าโดยรวมในช่วงครึ่งแรกปี 2554 ขณะที่สินค้าที่มีอัตราเร่งเพิ่มขึ้นจาก H1/2553 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ไดโอดทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น
ส่วนรายการสินค้านำเข้าหลักที่แม้จะมีอัตราการเติบโตชะลอตัวลง แต่ก็ยังสามารถเติบโตได้ในระดับสองหลัก ได้แก่คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ(ร้อยละ 24.2 (YoY)) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ(ร้อยละ 29.3 (YoY)) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ(ร้อยละ 26.5 (YoY)) หรือเคมีภัณฑ์(ร้อยละ 40.4 (YoY)) เป็นต้น ทำให้ ยอดขาดดุลการค้าของไทยต่อจีนในช่วง 6 เดือน แรกปี 2554 จึงขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2,374.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่เคยขาดดุลเป็นมูลค่า 1,343.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯใน H1/2553
คาดมณฑลกวางตุ้งยังคงเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยต่อเนื่อง
ทั้งนี้หากจะพิจารณาการค้าระหว่างไทยกับจีนเป็นรายมณฑล พบว่าในบรรดามณฑลของจีน (22 มณฑล 4 มหานคร และ 5 เขตปกครองตนเอง) การค้าระหว่างไทยกับมณฑลกวางตุ้งมีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 35 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทยกับจีนในปี 2553 ตามมาด้วยเซี่ยงไฮ้ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 23 เจียงซู(สัดส่วนร้อยละ 14) ซานตง(สัดส่วนร้อยละ 9) เจ้อเจียง(สัดส่วนร้อยละ 5) และฝูเจี้ยน(สัดส่วนร้อยละ 3) ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกวางตุ้งเป็นศูนย์กลางทางการค้าและธุรกิจที่สำคัญของจีน และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยมาอย่างยาวนาน
ขณะเดียวกันกวางตุ้งยังเป็นเมืองท่าหลักของจีนมาตั้งแต่ก่อนเปิดประเทศ และมีการติดต่อกับต่างชาติมาเป็นเวลานาน ประกอบกับท่าเรือในกวางตุ้งยังเป็นเส้นทางหลักในการลำเลียงสินค้าระหว่างไทยและจีน หรือเป็นประตูแรกสำหรับสินค้าจากไทยไปจีน ก่อนที่จะกระจายต่อไปยังพื้นที่หรือมณฑลอื่นๆ ของจีน
นอกจากนี้ คนจีนโพ้นทะเลในไทยส่วนใหญ่ก็มาจากมณฑลกวางตุ้ง ไม่ว่าจะเป็นชาวแต้จิ๋วจากเมืองซัวเถา หรือชาวจีนแคะจากเมืองเหมยโจว จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การค้าไทย-กวางตุ้งมีสัดส่วนสูงกว่ามณฑลอื่นๆ สำหรับสินค้าสำคัญที่กวางตุ้งนำเข้าจากไทย ได้แก่ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก น้ำมัน และไม้ ตามลำดับ
ส่วนการค้าระหว่างไทยกับมณฑลตอนในของจีนนั้นพบว่าปัจจุบันยังมีมูลค่าไม่มากนัก และจากการเปรียบเทียบระหว่าง 4 มณฑลจีนซึ่งมีพื้นที่ใกล้ไทย คือ เสฉวน ฉงชิ่ง ยูนนาน และกวางสี ซึ่งล้วนเป็นมณฑลที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และมีโอกาสที่จะเป็นตลาดสำคัญของไทยต่อไปนั้น พบว่า จากข้อมูลล่าสุดในปี 2553 ไทยมีการค้ากับมณฑลกวางสีมากที่สุด และเป็นไทยที่ได้เปรียบดุลการค้าเหนือกวางสี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขตปกครองตนเองกวางสีถูกวางบทบาทให้เป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งสินค้า ระหว่างจีนกับอาเซียน ประกอบกับมีนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในกวางสีค่อนข้างมาก
อีกทั้งยังมีเส้นทางเชื่อมโยงโลจิสติกส์ทางการค้าไทยทางตะวันออกเฉียงเหนือ-จีน ไม่ว่าจะเป็นเส้นทาง R8 R9 หรือ R12 ทำให้การขนส่งสินค้าและบุคคลของไทยผ่านลาว และเวียดนามไปยังจีนฝั่งตะวันตกมีความสะดวกยิ่งขึ้น จึงส่งผลให้การค้าระหว่างไทยกับกวางสีในปี 2553 เติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่มณฑลยูนนานที่มีพรมแดนใกล้ชิดไทยมากที่สุด กลับมีสัดส่วนการค้ากับไทยยังไม่สูงเท่าที่ควร (ประมาณร้อยละ 0.6 ของมูลค่าการค้ารวมไทย-จีน) และเป็นไทยที่เสียเปรียบดุลการค้าให้แก่มณฑลยูนนานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2553 คิดเป็นยอดขาดดุลทั้งสิ้น 270.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับแนวโน้มการค้าในระยะต่อไป คาดว่ามณฑลกวางตุ้งก็จะยังคงเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับมณฑลที่ใกล้ชิดกับไทย อาทิ เสฉวน ยูนนานและกวางสีที่น่าจะก้าวขึ้นมามีบทบาทการการค้ากับไทยมากยิ่งขึ้นนับจากนี้ เนื่องด้วยเส้นทางการขนส่งที่มีความสะดวก ประกอบกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 ของจีนที่ได้มุ่งเน้นกระตุ้นการบริโภคในประเทศเป็นสำคัญ รวมไปถึงการกระจายความเจริญสู่มณฑลตอนในและตะวันตก ที่น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้การบริโภคภายในจีนมีโอกาสแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น สินค้าจากไทยซึ่งได้รับความนิยมจากจีนพอสมควรก็น่าจะได้อานิสงส์ตามไปด้วย ซึ่งนอกจากสินค้าอุปโภคบริโภคจะขยายตัวแล้ว สินค้าวัตถุดิบขั้นกลางและสินค้าทุนก็มีโอกาสเติบโตด้วยเพราะกวางตุ้งเองก็นับเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีน ขณะที่กวางสีก็ถูกวางให้เป็นประตูสู่อาเซียน และมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเต็มที่เพื่อรองรับการลงทุนและการค้ากับนานาประเทศ
บทสรุป
การส่งออกของไทยไปจีนในช่วงครึ่งแรกปี 2554 เติบโตดีเกินคาดในระดับร้อยละ 23.8 (YoY) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับระดับร้อยละ 47.5 (YoY) ในครึ่งแรกปี 2553 แต่ก็ไม่ได้ร่วงลงหนัก ทั้งๆที่เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอความร้อนแรงลงตามลำดับในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนในเดือน มิ.ย.2554 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าแตะระดับ 2,214.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่มูลค่า 2,344.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนมี.ค.2554 โดยมีกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ควรจับตามองนับจากนี้ก็คือ การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานในหลายมณฑลของจีนและต้นทุนวัตถุดิบ รวมไปถึงปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่ล่าสุดยังคงพุ่งทะยานเป็นร้อยละ 6.4 (YoY)ในเดือน มิ.ย.2554 สูงสุดในรอบ 3 ปี ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ทั้งในส่วนของภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาระต้นทุนของภาคการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่อาจต้องเผชิญปัญหายุ่งยากมากขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่อแววล่าช้า รวมไปถึงการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ธนาคารที่ค่อนข้างจำกัดสำหรับกลุ่มธุรกิจ SMEs ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และต้นทุนด้านแรงงานที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง
อีกทั้งยังมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าสำหรับภาคธุรกิจใน 15 เมืองทั่วประเทศซึ่งเริ่มมีผลเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2554 ที่ผ่านมาด้วย ทำให้ภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของจีนในปีนี้มีโอกาสค่อนข้างมากที่จะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีที่ผ่านมา และอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าวัตถุดิบ และสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากไทยตามมาได้
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น
ที่มา : กสิกรไทย