ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน มิ.ย. 54 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 187.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 38.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือน มิ.ย. 54 มีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณจำนวน 181.2 พันล้านบาท แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำจำนวน 161.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 44.8 (2) รายจ่ายลงทุนจำนวน 19.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 68.9
ทั้งนี้ การเบิกจ่ายที่สำคัญในเดือน มิ.ย. 54 ได้แก่ งบชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจำนวน 51.6 พันล้านบาท งบรายจ่ายของกระทรวงกลาโหมจำนวน 6.8 พันล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 5.1 พันล้านบาท และรายจ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 4.7 พันล้านบาท
ทั้งนี้ การเบิกจ่ายสะสมในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 54 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 1,697.9 พันล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 26.8 ประกอบด้วยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีจำนวน 1,592.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 31.9 หรือคิดเป็นอัตรา การเบิกจ่ายร้อยละ 73.4 ของกรอบวงเงิน 2.16 ล้านล้านบาท ขณะที่รายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้จำนวน 1,401.6 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 190.4 พันล้านบาท
นอกจากนี้ผลการเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ณ วันที่ 22 ก.ค. 54 สามารถเบิกจ่ายสะสมได้ทั้งสิ้นจำนวน 285.9 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายสะสมร้อยละ 81.7 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 350.0 พันล้านบาท
จากการวิเคราะห์ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน มิ.ย. 54 พบว่า ดุลงบประมาณเกินดุลจำนวน 146.9 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -5.5 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) เกินดุลจำนวน 141.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 4.5 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังการกู้เงินเกินดุลจำนวน 145.9 พันล้านบาท
สำหรับฐานะการคลังในช่วง 9 เดือน ของปีงบประมาณ 54 ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -307.7 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 40.0 พันล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด (ก่อนกู้) จำนวน -267.7 พันล้านบาท ส่งผลให้ปริมาณเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 54 มีจำนวน 301.0 พันล้านบาท
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน มิ.ย. 54 ขยายตัว ร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือน พ.ค. ที่หดตัวร้อยละ -3.7 ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกจากที่หดตัวต่อเนื่องมาถึง 4 เดือน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุตสาหกรรมการส่งออกหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรม HDD ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบที่การส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาวะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมรวมเดือน มิ.ย.54 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 ประกอบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ก็มีการเร่งกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อชดเชยช่วงที่ไม่สามารถผลิตได้จากผลกระทบเหตุการณ์สึนามิในญี่ปุ่น
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง