เนื้อหาวันที่ : 2011-07-29 18:30:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1416 views

อุตฯ ครึ่งแรกแผ่วเจอพิษสึนามิ ส่งออกยังโตได้อีก

สศอ.เผยสึนามิพ่นพิษทำอุตฯ ไทยครึ่งแรกปี 2554 ซึม ดัชนีอุตฯ -2.7% กำลังการผลิตเหลือแค่ 58.9% ล่าสุดปรับลดประมาณการ GDP ภาคอุตฯ ลงเหลือ 3.5-4.5%

          สศอ.เผยสึนามิพ่นพิษทำอุตฯ ไทยครึ่งแรกปี 2554 ซึม ดัชนีอุตฯ -2.7% กำลังการผลิตเหลือแค่ 58.9% ล่าสุดปรับลดประมาณการ GDP ภาคอุตฯ ลงเหลือ 3.5-4.5%

          สศอ.เผยดัชนีอุตฯ ไทยครึ่งปีแรกยังแผ่ว -2.7% สึนามิญี่ปุ่นส่งผลกระทบ ปรับประมาณการขยายตัวเหลือ 2-3% กำลังการผลิตอยู่ระหว่าง 62-64% ขณะที่ เดือน มิ.ย.ดัชนีอุตฯ พลิกบวก 3.3% หลังซึมยาว 4 เดือนติด

          นายอภิวัฒน์ อสมาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในไตรมาสที่ 2/2554 หดตัว -2.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดย MPI ติดลบต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง หลังจากฟื้นตัวเป็นบวกจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 เนื่องจากฐานที่สูงในปี 2553 รวมถึงผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติที่ญี่ปุ่น โดยอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 58.9% ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์ จึงส่งผลต่ออัตราการใช้กำลังการผลิต ขณะที่ MPI ในเดือน มิ.ย.54 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลับพลิกมาเป็นบวก โดยเพิ่มขึ้น 3.32% อยู่ที่ระดับ 200.64 ซึ่งกลับมาเกิน 200 อีกครั้งเป็นเดือนที่ 3 ในรอบ 18 เดือน สะท้อนสัญญาณที่ดีในการขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

          การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) ไตรมาสที่ 2/2554 ขยายตัว 18.3% เมี่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าหลักที่ส่งผลต่อการขยายตัวมาจาก หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัว 15.9% ขณะที่เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัว 6.9% ภาพรวมครึ่งปีแรก 2554 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม(ไม่รวมทองคำแท่ง) ขยายตัวสูงถึง 20.4%

          นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า สศอ.ได้ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง โดยปี 2554 GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวในช่วง 3.5-4.5% จากเดิมประมาณไว้ที่ 5.5-6.5% MPI จะขยายตัวในช่วง 2.0 – 3.0% จากเดิมประมาณไว้ที่ 6.0-8.0% เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยง ที่ส่งผลกระทบหลายด้าน ได้แก่ ปัญหาอัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูง แม้การต่ออายุมาตรการดูแลค่าครองชีพออกไปจะชะลอการเร่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อออกไป แต่แนวทางปฏิบัติของการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำและแผนการใช้จ่ายของภาครัฐในระยะข้างหน้าอาจเพิ่มแรงกดดันด้านราคาและส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น นอกจากนี้ปัจจัยการขึ้นค่าแรง ยังเป็นหนึ่งในปัญหาต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรวมถึง ทิศทางอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินที่ยังเป็นขาขึ้น และการประกาศขึ้นราคาขายก๊าซหุงต้มภาคอุตสาหกรรม 3 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา

สรุปภาพรวมอุตสาหกรรมรายสาขาไตรมาสที่ 2/2554 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนี้
          อุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 2/2554 ภาวะการผลิต ในภาพรวม เพิ่มขึ้น 46.1% เนื่องจากการผลิตในสินค้าสำคัญ ได้รับผลดีจากภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งระดับราคาสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงในสินค้าน้ำตาล ปริมาณการผลิตน้ำตาลปี 2553/54 ปรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะไตรมาสที่ 2 ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 153.4% จากปริมาณอ้อยที่เข้าโรงงานเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ จากปริมาณ 68 ล้านตันในปี 2552/53 เพิ่มขึ้นเป็น 95 ล้านตัน ขณะที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกยังทรงตัวในระดับที่สูงกว่าปีก่อน ขณะที่แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ปี 2554 คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก ปี 2553 ประมาณ 17.9% โดยเป็นผลจากระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรสำคัญๆ หลายประเภทของโลกมีปริมาณลดลงจากภาวะภัยธรรมชาติในแต่ละพื้นที่

          อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาสที่ 2/2554 การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ส่วนใหญ่มีการผลิตลดลง ทั้ง ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยลดลง 4.7% และ 5.6% ตามลำดับ ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรมในปี 2554 คาดว่าการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นและมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การรวมกลุ่มภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนและการรวมกลุ่มการค้าอื่นๆ ทำให้เกิดความต้องการนำเข้าสินค้าต้นน้ำ กลางน้ำ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องนุ่งห่มในกลุ่มอาเซียน ส่งผลให้การส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในอาเซียนขยายตัว

          อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไตรมาสที่ 2/2554 ภาพรวมหดตัวเล็กน้อย 0.06% โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หดตัว 0.23% ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าขยายตัว 1.13% ขณะที่ แนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3/2554 และคาดการณ์ทั้งปี 2554 คาดว่า การผลิตในไตรมาสที่ 3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่มีแนวโน้มเป็นตัวผลักดันที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และ IC โดยความต้องการสินค้า consumer electronics แต่คงมีอัตราการขยายตัวได้ไม่มากนัก เนื่องจากฐานที่สูงในปี 2553 ส่วนประมาณการการผลิตโดยรวมทั้งปี 2554 ปรับตัวสูงขึ้น 8% เนื่องจากคุณลักษณะผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในตลาดส่งออกหลักต่างๆ ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในอาเซียน และเอเชีย รองจากจีน ทำให้การผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มสูงขึ้น

          อุตสาหกรรมรถยนต์ ไตรมาสที่ 2/2554 การผลิตชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุสำคัญเกิดจากภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ขาดแคลนชิ้นส่วนในการประกอบรถยนต์ ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย โดยไตรมาสที่ 2/54 มีการผลิตรถยนต์จำนวน 341,629 คัน ลดลง -11.53% แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 123,215 คัน รถกระบะ 1 ตันและอนุพันธ์ 214,517 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 3,897 คัน ขณะที่ แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ ในไตรมาสที่ 3/2554 คาดว่า จะมีการขยายตัวเมื่อ

          เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการรถยนต์เร่งการผลิตรถยนต์ เพื่อชดเชยช่วงที่ไม่มีการผลิตรถยนต์เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วน อันเป็นผลจากกรณีภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีการผลิตรถยนต์ 487,000 คัน เพิ่มขึ้น 13.72% การจำหน่ายในประเทศ 237,000 คัน เพิ่มขึ้น 18.70% และการส่งออก 250,000 คัน เพิ่มขึ้น 1.35%

          ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งปี 2554 แม้ว่าในช่วงต้นปีอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น แต่ก็ถือว่ามีการฟื้นตัวที่เร็ว จึงคาดว่าปี 2554 จะมีการผลิตรถยนต์ 1,800,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.40% แบ่งเป็นการจำหน่ายในประเทศ 900,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.45% และการส่งออก 900,000 คัน เพิ่มขึ้น 0.46%

          นายอภิวัฒน์ ได้สรุปตัวเลข MPI เดือนมิถุนายน 2554 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นดังนี้ ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 200.64 เพิ่มขึ้น 3.3% จากระดับ 194.19 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 203.13 เพิ่มขึ้น 1.07% จากระดับ 200.97 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 190.72 เพิ่มขึ้น4.71% จากระดับ 182.14 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 119.27 ลดลง -1.63% จากระดับ 121.24 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 148.04 เพิ่มขึ้น 4.93% จากระดับ 141.08 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 63.58%

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต  

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม