กรมธุรกิจพลังงาน เผยยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงครึ่งปีแรก 2554 ยอดพุ่ง ขณะที่การใช้ LPG เพิ่มขึ้นทั้งภาคครัวเรือน และอุตสาหกรรม
กรมธุรกิจพลังงาน เผยยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงครึ่งปีแรก 2554 ยอดพุ่ง ขณะที่การใช้ LPG เพิ่มขึ้นทั้งภาคครัวเรือน และอุตสาหกรรม
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนมิถุนายน 2554 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2554 ทุกชนิด โดยการใช้กลุ่มน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% จาก 19.7 ล้านลิตร/วัน มาอยู่ที่ 20.7 ล้านลิตร/วัน ส่วนการใช้กลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วมีปริมาณใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ 54.4 ล้านลิตร/วัน โดยปรับเพิ่มขึ้น 0.1% สำหรับการใช้ LPG ต่อวัน เพิ่มขึ้น 2% อยู่ที่ 18,200 ตัน/วัน หรือ 545,000 ตัน/เดือน เช่นเดียวกับ NGV มีการใช้เพิ่มขึ้น 3% จาก 6.6 ล้านกิโลกรัม/วัน อยู่ที่ 6.8 ล้านกิโลกรัม/วัน โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายนมีรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ NGV ทั้งหมด 267,698 คัน
การใช้กลุ่มน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นทุกชนิด ยกเว้นน้ำมันเบนซิน 95 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่มีการหาเสียงเพื่อเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า โดยแบ่งเป็นการใช้น้ำมันเบนซิน 91 และ 95 รวมอยู่ที่ 8.0 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 9% และการใช้แก๊สโซฮอล์รวมอยู่ที่ 12.7 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 3% โดยการใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจาก 0.024 ล้านลิตร/วัน มาอยู่ที่ 0.026 ล้านลิตร/วัน หรือเพิ่มขึ้น 9% โดยในเดือนมิถุนายนมีสถานีบริการที่จำหน่ายแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมถึง 11 แห่ง เป็น 21 แห่ง
ส่วนการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี 3) 53.0 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากเดือนก่อน 0.7% เนื่องจากเป็นช่วงหมดฤดูพืชผลทางเกษตร ทำให้มีการใช้รถบรรทุกลดลง อย่างไรก็ตามขณะนี้มีสต็อกของน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพิ่มขึ้นมาก และเพื่อดูดซับน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินในตลาด กรมธุรกิจพลังงานจึงปรับเพิ่มสัดส่วนการผสม บี 100 ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจาก 3% มาอยู่ที่ 4% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป
สำหรับการใช้ LPG ในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 2% มาอยู่ที่ 18,200 ตัน/วัน หรือ 545,000 ตัน/เดือน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในภาคครัวเรือน 3% อยู่ที่ 7,200 ตัน/วัน หรือ 217,000 ตัน/เดือน ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 3% อยู่ที่ 2,200 ตัน/วัน หรือ 67,000 ตัน/เดือน และภาคขนส่ง เพิ่มขึ้น 2% อยู่ที่ 2,600 ตัน/วัน หรือ 77,000 ตัน/เดือน ส่วนการใช้ในภาคปิโตรเคมีลดลง 1% อยู่ที่ 6,100 ตัน/วัน หรือ 184,000 ตัน/เดือน โดยในเดือนมิถุนายนมีการนำเข้า LPG 171,000 ตัน เป็นมูลค่า 4,900 ล้านบาท โดยกองทุนจ่ายชดเชย 3,276 ล้านบาท
ด้านการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมีปริมาณรวมทั้งหมด 828,000 บาร์เรล/วัน ลดลงจากเดือนก่อน 12% และมูลค่านำเข้ารวมอยู่ที่ 86,000 ล้านบาท ลดลง 16% แบ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ 761,000 บาร์เรล/วัน มูลค่ารวม 81,000 ล้านบาท และน้ำมันสำเร็จรูป 67,000 บาร์เรล/วัน มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณ 171,000 บาร์เรล/วัน ลดลง 16% และมูลค่าส่งออกรวม 19,000 ล้านบาท ลดลง 16% เช่นกัน
การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเปรียบเทียบ 2 ไตรมาส และครึ่งปีแรก’54 เพิ่มขึ้นทุกภาคส่วน
การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง 2 ไตรมาสในปี 2554 พบว่า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดเพิ่มขึ้น ยกเว้นกลุ่มน้ำมันเบนซิน ลดลง 0.7% อยู่ที่ 20.3 ล้านลิตร/วัน ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การใช้น้ำมันเบนซิน 91 และ 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ปรับลดลงเพราะประชาชนเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่นที่ถูกกว่า ในขณะที่การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% อยู่ที่ 54.7 ล้านลิตร/วัน เช่นเดียวกับการใช้ NGV ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% อยู่ที่ 6.5 ล้านกิโลกรัม/วัน และ LPG เพิ่มขึ้น 3% อยู่ที่ 18,000 ตัน/วัน หรือ 546,000 ตัน/เดือน
สำหรับ การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในครึ่งปีแรกของปี 2554 เปรียบเทียบกับ ครึ่งปีแรกของปี 2553 พบว่า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นทุกชนิด ดังนี้
กลุ่มน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 2% จาก 20.1 ล้านลิตร/วัน เป็น 20.4 ล้านลิตร/วัน
กลุ่มน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 4% จาก 52.2 ล้านลิตร/วัน เป็น 54.1 ล้านลิตร/วัน
NGV เพิ่มขึ้น 35% จาก 4.7 ล้านกิโลกรัม/วัน เป็น 6.3 ล้านกิโลกรัม/วัน
LPG เพิ่มขึ้น 24% จาก 14,300 ตัน/วัน เป็น 17,800 ตัน/วัน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของทุกภาคการใช้ แบ่งเป็น ภาคปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 55% ตามการขยายตัวของธุรกิจปิโตรเคมี ส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้น 30% เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินและดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในครึ่งปีแรกของปี 2554 มีรถยนต์ที่สามารถใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นถึง 70,000 คัน ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 9% และภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 5%
ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกของปีนี้มีการนำเข้า LPG เฉลี่ย 113,000 ตัน/เดือน มูลค่ารวม 19,500 ล้านบาท ซึ่งต้องจ่ายชดเชยการนำเข้าเป็นจำนวน 12,984 ล้านบาท แต่เมื่อรวมการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมดปริมาณ 851,000 บาร์เรล/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2% ในขณะที่มูลค่านำเข้ารวม 506,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจากเฉลี่ย 77 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในปี 2553 เป็น 106 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในปี 2554 ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณ 159,000 บาร์เรล/วัน ลดลง 11% ในขณะที่มูลค่าส่งออกรวม 99,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16%
การคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ
นายวีระพล กล่าวถึงราคาน้ำมันดิบว่า EIA (U.S. Energy Information Administration) ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ในไตรมาสที่ 3 จะอยู่ที่ระดับ 98 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากไตรมาสที่ 2 กว่า 4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ประกาศจะปล่อยน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ออกสู่ตลาด 60 ล้านบาร์เรล และความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป
ผลการดำเนินการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันในสถานีบริการน้ำมัน ในรอบ 9 เดือน
อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยถึงสถิติผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2554 (เดือนตุลาคม 2553 – มิถุนายน 2554) กรมธุรกิจพลังงาน ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยรถ Mobile Lab ออกปฏิบัติงานตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่าย ณ สถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ และมอบหมายให้สำนักงานพลังงานจังหวัดจัดเก็บตัวอย่างน้ำมันจากสถานีบริการในพื้นที่รับผิดชอบส่งมาตรวจสอบที่ส่วนกลาง รวมทั้งเพิ่มปริมาณการตรวจสอบในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ได้แก่ สวภ.5 (นครราชสีมา) สวภ.8 (นครสวรรค์)และสวภ.12 (สงขลา) ให้ออกปฏิบัติงานตรวจสอบคุณภาพน้ำมันของสถานีบริการในเขตพื้นที่รับผิดชอบ โดยมีการตรวจสอบ รวมทั้งสิ้น 5,008 ราย 9,390 ตัวอย่าง พบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพต่ำจำนวน 55 ราย 58 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 1.10 และ 0.61 ของจำนวนรายและตัวอย่างน้ำมันที่ตรวจสอบตามลำดับ
ซึ่งการจำหน่ายน้ำมันคุณภาพต่ำที่พบนี้มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2553 ที่ตรวจสอบรวมทั้งสิ้น 6,562 ราย 11,694 ตัวอย่าง พบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพต่ำ 209 ราย 233 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 3.19 และ 1.99 ของจำนวนรายและตัวอย่างน้ำมันที่ตรวจสอบตามลำดับ โดยผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่เป็นปั๊มอิสระในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การกระทำผิดส่วนใหญ่ที่พบ คือ การปลอมปนน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ด้วยเมทานอล สารโซลเว้นท์ และแก๊สโซฮอล์ ซึ่งกรมธุรกิจพลังงานได้พิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ค้าน้ำมันที่ตรวจพบผิดดังกล่าวทุกราย
นอกจากนี้ กรมธุรกิจพลังงานยังได้ติดตามสถานการณ์การปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงภายหลังจากที่มีการประกาศใช้ดีเซลหมุนเร็วเกรดเดียว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา อันเป็นการแก้ปัญหาการนำดีเซลบี 5 มาผสม/จำหน่ายเป็นดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ทำให้ไม่มีส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์ ดังกล่าว ส่งผลให้แนวโน้มการพบผิดที่เกิดจากการนำน้ำมันที่มีราคาถูกกว่ามาผสมลดน้อยลง
ที่มา : กรมธุรกิจพลังงาน