เนื้อหาวันที่ : 2011-07-26 13:31:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1025 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 26 ก.ค. 2554

1. ธปท. ห่วงหนี้สินภาคครัวเรือนขยายตัวมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ
-  ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กำลังจับตาดูการใช้จ่ายและการก่อหนี้ของประชาชนในระยะต่อไป เนื่องจากไม่ต้องการให้ประชาชนก่อหนี้มากเกินตัว ทั้งนี้ สินเชื่ออุปโภคและสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวสูงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดย สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของภาคประชาชนในเดือน มิ.ย. 54 ขยายตัวเร่งขึ้นในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 17.0 จากปีก่อนหน้า

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่องหลังการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 51-52 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้า ซึ่งการขยายตัวเร่งขึ้นของสินเขื่ออย่างต่อเนื่อง สะท้อนภาระที่เพิ่มขึ้นของภาคประชาชน โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 สัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ทางการเงินของครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกจากรายได้ครัวเรือนที่ยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับสูง ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ฐานะทางการเงินของประชาชนยังคงแข็งแกร่ง  โดยรายได้เกษตรกรในเดือน พ.ค. 54 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.1 จากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ควรมีการติดตามสถานการณ์สินเชื่ออย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป

2. ธปท.เผยค่าเงินผันผวน ร้อยละ 5
- ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทในขณะนี้มีความผันผวนและปรับแข็งค่ามากขึ้น เพราะมีเงินทุนจากต่างประเทศยังไหลเข้ายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตร ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงตลาดหุ้น โดยสัดส่วนความผันผวนของค่าเงินบาทอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 เพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 - 4

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ช่วงเดือน ก.ค. 54 ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 2.9 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาค อาทิ เงินเยนญี่ปุ่น เงินวอนเกาหลีใต้ และเงินริงกิตมาเลเซีย  หากพิจารณาตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 1 ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่แข็งค่าด้วยอัตราน้อยกว่าการแข็งค่าของค่าเงินภูมิภาคสกุลอื่นๆ โดยเฉพาะเงินวอนและดอลลาร์สิงคโปร์ที่แข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 6 และร้อยละ 5 ตามลำดับ

สาเหตุของการแข็งค่าของค่าเงินบาท คาดว่าเป็นผลจากการไหลเข้าของของเงินทุนจากต่างประเทศ (เงินไหลเข้าทั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตร ณ. 22 ก.ค.54 อยู่ที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินที่ไหลเข้าตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 6.2 พันล้านบาท และเป็นเงินที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท) ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซีกโลกตะวันตกที่ยังคงไม่ชัดเจน ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 54 จะอยู่ที่ 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการ ณ มิ.ย. 54)  

3. มูดี้ส์ หั่นเครดิตกรีซ 3 ขั้นรวดลงติดดิน
-  บริษัท จัดลำดับอันดับ มูดี้ส์ ได้ปรับลดอันดับเครดิตพันธบัตรสกุลเงินในประเทศและสกุลเงินต่างประเทศของกรีซเป็นครั้งล่าสุด โดยลดลงรวดเดียวถึง 3 ขั้น มาอยู่ที่ Ca จากเดิมที  Caa1 หรือเป็นระดับรองสุดท้ายก่อนจะถึงระดับ D ซึ่งเป็นสถานะของการผิดนัดชำระหนี้ พร้อมระบุว่า กรีซจะผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาลแน่นอนเกือบ 100 %

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การจัดอันดับหนี้ล่าสุดของกรีซ สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลกรีซ ทั้งนี้ ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะยุโรปอาจมีผลกระทบต่อไทย เห็นได้จากการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่การลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทั้งสัปดาห์ (18-21 ก.ค.54) นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทยสุทธิสูงถึง 11,076 ล้านบบาท และยังมีผลต่อความผันผวนของค่าเงินบาทที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง