เนื้อหาวันที่ : 2011-07-26 09:15:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1107 views

อียูจะทบทวนระเบียบ REACH ในปี 2555

          นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภายใต้กฎว่าด้วย การจดทะเบียน ประเมิน ขออนุญาต และจำกัดการใช้สารเคมีของสหภาพยุโรป (REACH) อียูได้ข้อสรุปสำหรับประเด็นการตีความ “สารเคมีในผลิตภัณฑ์ (Substances in Articles)” ว่าการคำนวณปริมาณสารเคมีในผลิตภัณฑ์ / สินค้าสำเร็จรูป ให้คำนวณระดับการใช้สารเคมีอันตรายที่น่าเป็นห่วง (Substance of Very High Concern : SVHC) ที่มีระดับความเข้มข้นร้อยละ 0.1 โดยคิดจากผลิตภัณฑ์ / สินค้าสำเร็จรูปทั้งชิ้นเท่านั้น ไม่ได้คิดจากส่วนประกอบแต่ละชิ้นของผลิตภัณฑ์ / สินค้าสำเร็จรูป ซึ่ง REACH ได้พิจารณาความเป็นอันตรายของสาร SVHC จากการเสนอของประเทศสมาชิก แล้วนำมาไว้ในบัญชีรายชื่อสารที่ต้องควบคุม (Candidate List) ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 53 รายการ

โดยสามารถเช็ครายชื่อสารของCandidate List ได้ที่เว็บไซต์http://echa.europa.eu/chem_data/authorisation_process/candidate_list_table_en.asp#download ซึ่งผู้ผลิต / ผู้นำเข้าที่มีสารใน Candidate List ในชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ / สินค้าสำเร็จรูป ต้องจดแจ้งหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารดังกล่าวต่อหน่วยงานจัดการสารเคมีสหภาพยุโรป (ECHA) ในกรณีนี้จะแตกต่างจากการนำสาร SVHC ในบัญชีรายชื่อสารที่ต้องขออนุญาต (Authorization List) มาใช้งานที่จะต้องขออนุญาตก่อนจึงจะนำมาใช้งานตามที่ระบุได้ อย่างไรก็ดี หน่วยงานรับผิดชอบเรื่องดังกล่าวของแต่ละประเทศสมาชิกอาจไม่ปฏิบัติตามแนวทางนี้ เนื่องจากจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการนำเข้าผลิตภัณฑ์ / สินค้าสำเร็จรูปที่มีสาร SVHC ในรายการ Candidate List ในส่วนประกอบหลายชิ้นที่ประกอบจากประเทศนอกอียู

          นายสุรศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกของไทยที่มีการใช้สาร SVHC ในการผลิตชิ้นส่วนในการประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ หรือผลิตผลิตภัณฑ์ / สินค้าสำเร็จรูปทั้งชิ้น ควรให้ความสำคัญต่อข้อปฏิบัติของการคำนวณ “สารเคมีในผลิตภัณฑ์” ที่มีระดับความเข้มข้นร้อยละ 0.1 เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการถูกปรับหรือห้ามนำเข้าสินค้าชนิด นั้น ๆ นอกจากนี้ ที่ผ่านมา สมาชิกอียูแต่ละประเทศมีการดำเนินมาตรการตามระเบียบ REACH แตกต่างกัน ดังนั้น อียูจะมีการทบทวนรายละเอียดของข้อปฏิบัติที่ยังไม่ชัดเจนอีกครั้งในปี 2555 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ที่มา : กรมการค้าต่างประเทศ