เนื้อหาวันที่ : 2011-07-22 11:40:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1896 views

สสว.เผย SMEs รุ่งยอดส่งออกทะยานแตะ 8 แสนล้าน

สสว.ควง TMB สภาผู้ส่งออกฯ โชว์ผลงาน SMEs ไทย 5 เดือนแรกสวยยอดส่งออกพุ่ง 8.4 แสนล้าน ธุรกิจเปิดใหม่กว่า 5 พันรายต่อเดือน เตรียมชง 5 โครงการพัฒนา SMEs ต่อรัฐบาลใหม่

          สสว.ควง TMB สภาผู้ส่งออกฯ โชว์ผลงาน SMEs ไทย 5 เดือนแรกสวยยอดส่งออกพุ่ง 8.4 แสนล้าน ธุรกิจเปิดใหม่กว่า 5 พันรายต่อเดือน เตรียมชง 5 โครงการพัฒนา SMEs ต่อรัฐบาลใหม่

          สสว. จับมือ TMB และสภาผู้ส่งออกฯ เผยสถานการณ์ SMEs 5 เดือนแรกของปี 2554 ยังคงดีขึ้นต่อเนื่อง ผลจากการส่งออกสูงถึง 845,516.86 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.33 ตลาดสำคัญอยู่ที่ฮ่องกง ญี่ปุ่น จีน ขณะที่ตัวเลขธุรกิจเปิดใหม่พุ่งสูงถึง 5,220 กิจการ/เดือน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.28 คาดการณ์ทั้งปี GDP SMEs อยู่ที่ร้อยละ 4.2 พร้อมกันนี้ สสว. เตรียมเสนอ 5 โครงการพัฒนา SMEs ต่อรัฐบาลใหม่ ทั้งตั้งกองทุนสร้างผู้ประกอบใหม่ ส่งเสริม SMEs ชายแดน ยกระดับ OTOP เตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC และสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน

          นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยในงานแถลงสถานการณ์ SMEs รายไตรมาส เรื่อง “มุมมองและข้อคิด SMEs ถึงรัฐบาลใหม่” จัดโดย สสว. ร่วมกับ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ หรือ TNSC) ว่า สถานการณ์ SMEs ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2554 ยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกสินค้า SMEs การจัดตั้งและยกเลิกกิจการ รวมถึงผลการสำรวจดัชนี SMEs ในด้านต่างๆ ที่มีการปรับตัวดีขึ้น โดยการส่งออกของ SMEs ระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค. 2554 มีมูลค่ารวม 845,516.86 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.33 โดยเฉพาะในเดือน มี.ค. มีการส่งออกสูงที่สุดคิดเป็นมีมูลค่า 193,030.8 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 24.41 ผลจากการส่งออกสินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ ไปในตลาดกลุ่มประเทศยุโรปเป็นหลัก

          “ประเทศคู่ค้าหลักของ SMEs ไทย ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น จีน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 11.7 10.5 และ 10.4 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีสหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก ยางและของที่ทำด้วยยาง ในส่วนการจัดจั้งและยกเลิกกิจการในช่วง 5 เดือนแรกของปี ก็มีตัวเลขที่ดี โดยการจัดตั้งกิจการใหม่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 5,220 ราย/เดือน ส่วนการยกเลิกิจการก็มีตัวเลขลดต่ำลงมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 749 ราย/เดือน” ผอ.สสว. กล่าว

          สำหรับการจัดตั้งและยกเลิกกิจการนิติบุคคลของ SMEs ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2554 ในส่วนของการจัดตั้งกิจการใหม่ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 26,100 กิจการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.28 โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ บริการนันทนาการ (กิจการค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ธุรกิจจัดหานายแบบ-นางแบบ ฯลฯ) การก่อสร้างทั่วไป และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่วนกิจการที่ยกเลิกระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค.2554 มีจำนวน 3,743 หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 15.51 โดยธุรกิจที่มีการยกเลิกสูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการธุรกิจด้านอื่นๆ

          ส่วนการสำรวจดัชนีชี้วัดในด้านต่างๆ ของ SMEs ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่น SMEs ภาคการค้าและบริการ ในด้านการลงทุนและการจ้างงาน พบว่า มีแนวโน้มความเคลื่อนไหวสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยดัชนีด้านการลงทุนจะอยู่ในระดับเหนือกว่าค่าฐานที่ 100 เล็กน้อย และดัชนีด้านการจ้างงานทรงตัวอยู่ในระดับค่าฐาน ซึ่งสะท้อนว่าผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการจ้างงานในระดับที่ดี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่น TISI ด้านผลประกอบการมีทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน เม.ย.-พ.ค. 2554 เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของยอดคำสั่งซื้อโดยรวมและยอดขายโดยรวม

          ในส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม SMEs ในเดือน พ.ค. 2554 เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่า ค่าดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) และ (มูลค่าผลผลิต) ดัชนีการส่งสินค้า ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง และอัตราใช้กำลังการผลิต เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 91.36 109.66 106.75 155.56 และ 48.25 จากระดับ 83.68 100.26 103.03 148.88 และ 44.73 (เพิ่มขึ้น 9.18 9.38 3.62 4.48 และ 3.52) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่า ค่าดัชนีทุกตัวดังกล่าวปรับตัวลดลง ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบในด้านบวก ได้แก่ การผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ การผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอลล์รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบในด้านลบ ได้แก่ การแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ การผลิตผ้าและสิ่งของที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนม การผลิตผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม เป็นต้น

          ผอ.สสว. เปิดเผยต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมา สสว. ได้ดำเนินการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมที่ผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อ SMEs โดยสำรวจจากผู้ประกอบการทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค รวมกว่า 300 ตัวอย่าง พบว่า นโยบายที่โดนใจผู้ประกอบการ SMEs มากที่สุด คือการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ภายใต้มาตรการต่างๆ ได้แก่ การลดภาระภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการผลิต การค้า และการลงทุนของ SMEs การสนับสนุน SMEs ให้เข้าสู่ระบบเพื่อให้เข้าถึงบริการของภาครัฐได้ง่าย และการปรับปรุงไขกฎหมาย กฎระเบียบและระบบการจัดการภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบการของ SMEs นอกจากนี้ยังมีนโยบายด้านการตลาด ได้แก่ มาตรการปรับปรุงและพัฒนาระบบการกระจายและการขนส่งสินค้าของ SMEs เข้าสู่ตลาดต่างประเทศ

          “จากผลความต้องการ SMEs ดังกล่าว เมื่อพิจารณกับนโยบายด้านการส่งเสริม SMEs ของรัฐบาลใหม่แล้ว ในฐานะที่ สสว. เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริม สนับสนุน SMEs จึงพร้อมเป็นเครื่องมือในการผลักดันนโยบายการส่งเสริม SMEs ของรัฐบาลใหม่ให้เป็นรูปธรรม โดยเตรียมจะนำเสนอโครงการเพื่อรองรับการยกระดับผู้ประกอบการจำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการ GO SMEs หรือโครงการกองทุนตั้งตัว โครงการ Beyond Border โครงการ OTOP Plus โครงการ AEC Ready และโครงการ SMEs Corporate Venture หรือโครงการเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน สสว. เชื่อว่าโครงการต่างๆ ดังกล่าวจะช่วยส่งเสริม SMEs ได้หลากหลายมิติ เพื่อให้เป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจประเทศต่อไป” ผอ.สสว. กล่าว

          ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี รองผู้อำนวยการ วิเคราะห์ความเสี่ยงมหภาคและวิจัย TMB กล่าวถึงสถานการณ์ของ SME ในครึ่งปีหลังเป็นรายภาคธุรกิจเพื่อให้เกิดภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการต่อไป โดย TMB SME วิเคราะห์ว่าธุรกิจ SMEs ที่มีแนวโน้มดีมาก คือ ยานยนต์และชิ้นส่วน จากการผลิตรถยนต์ที่กลับเข้าสู่ระดับปกติได้อย่างรวดเร็วภายหลังเหตุการณ์ในญี่ปุ่นคลี่คลายลง

ประกอบกับอุปสงค์ผู้บริโภคที่แข่งแกร่ง จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง และ ธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มดีมากเช่นกัน เนื่องจากแนวโน้มสถานการณ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งTMB SME ประเมินว่า แนวโน้มนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากถึง 9.69 ล้านคน และสำหรับธุรกิจ SMEs ที่มีแนวโน้มดีปานกลาง ได้แก่ อาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ กระดาษ ปิโตรเคมี ค้าส่ง/ค้าปลีก และโรงพยาบาลเอกชน

โดยที่น่าสนใจคือ กลุ่มอาหารและผลิตภัณฑ์ยาง ที่ทั้งราคาและการส่งออกขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนภาคการค้าได้รับปัจจัยหนุนจากการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ตามธุรกิจ SMEs ที่มีแนวโน้มควรระวัง ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ไม้ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ โดย TMB SME มีข้อสังเกตว่า ธุรกิจดังกล่าวค่อนข้างมีข้อจำกัดด้านความสามารถในการแข่งขัน และอาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากต้นทุนดอกเบี้ย และต้นทุนค่าจ้างที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

          สำหรับประเด็นของการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่กำลังเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนกำลังจับตาอยู่นั้น ดร.เบญจรงค์ มองว่า มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานประเภทที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะเป็นอย่างมาก บางอุตสาหกรรมอาจสูญเสียผลตอบแทนถึงร้อยละ 40-50 เช่น การก่อสร้าง การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในขณะที่ภาคการผลิตที่ต้องใช้ฝีมือแรงงานเข้มข้น TMB SME พบว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกๆ 100 บาท จะทำให้ค่าแรงอื่นๆในระบบเพิ่มขึ้นอีก เฉลี่ย 30 บาท จึงทำให้ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการปรับขึ้นค่าแรงในหมวดอื่น ๆ

          โดย TMB SME ยังได้ศึกษาผลกระทบของการปรับค่าแรงขั้นต่ำ มีผลต่อ SMEs และวิสาหกิจขนาดใหญ่ โดยวิเคราะห์จากตัวเลขอัตรากำไรสุทธิ และผลิตภาพแรงงานของ SMEs เทียบกับวิสาหกิจขนาดใหญ่ พบว่า ที่ผ่านมา SMEs ในธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และอิเล็คทรอนิคส์ มีอัตรากำไรสุทธิค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มธุรกิจอื่น แต่หากเปรียบเทียบกับวิสาหกิจขนาดใหญ่ อัตรากำไรก็ยังต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากโครงสร้างการผลิตที่ค่อนข้างแตกต่างกัน รวมถึงข้อจำกัดของ SMEs เอง อาทิ ความสามารถในการแข่งขัน การบริหารจัดการ การจัดการต้นทุนและการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้า

          หากเปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน โดยวัดจากผลผลิตที่แรงงานคนหนึ่งๆ ผลิตได้ หรือผลิตภาพแรงงาน พบว่า วิสาหกิจขนาดใหญ่มีความได้เปรียบ SMEs ในเกือบทุกธุรกิจ ซึ่งสะท้อนว่า SMEs จะเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นค่าแรงค่อนข้างมาก ยกเว้นในภาคโรงแรม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา SMEs โดยเฉพาะประเภท Boutique กลับเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการทำรายได้มากกว่าโรงแรมขนาดใหญ่

          ทั้งนี้ ในกลุ่มของ SMEs เอง กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ กลุ่มวิสาหกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะที่อยู่ในภาคการผลิต ซึ่งมีผลิตภาพแรงงานที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมาก และจำเป็นต้องมีการปรับตัวมากที่สุด

          อย่างไรก็ตามเมื่อมองเศรษฐกิจภาพรวม โดยหลังจากปี 2548 เป็นต้นมา ปัญหาทางการเมืองบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลและความเชื่อมั่นของนักลงทุนตลอดมา แนวโน้มการลงทุนจึงลดลงอย่างเห็นได้ชัด พบว่าก่อนปี 2548ในช่วงที่การเมืองยังมีเสถียรภาพ แนวโน้มการลงทุนเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11.5 หลังจากนั้นมาเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 4.5 เท่านั้น

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยก็ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1 ปี 2554 สามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.0 โดยการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนมีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจถึงร้อยละ 3.4 ซึ่งแบ่งเป็นการบริโภคร้อยละ 1.6 และการลงทุนร้อยละ 1.8 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจอย่างการส่งออกที่มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวถึงร้อยละ 2.8 แต่เป็นที่น่าเสียดายที่การผลิตไม่ขยายตัวเท่าที่ควร เป็นผลให้สินค้าคงคลังลดตัวลงอย่างมากในไตรมาส 1 ทำให้ฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 3 โดยเฉพาะที่มาจากหมวดข้าวและสินค้าอุตสาหกรรม ที่แม้จะส่งออกได้ดี แต่ก็เป็นเพียงการระบายสินค้าที่มีอยู่เดิมออกไป

          จากสภาพการณ์ต่างๆข้างต้น ทำให้มองว่าในปี 2554 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวต่อเนื่องได้ที่ร้อยละ 4.0 โดยทั้งภาคการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการส่งออก ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง โดยภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการยังคงเป็นภาคที่มีการขยายตัวต่อเนื่องทั้งจากอุปสงค์ภายในและนอกประเทศ ส่วนภาคการเกษตรยังคงได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับสูงกว่าปี 2553

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)