เนื้อหาวันที่ : 2011-07-21 16:41:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1604 views

เอกชนค้านขึ้นค่าแรง 300 บาท ห่วงฉุดความสามารถการแข่งขัน

          ความเห็นของภาคเอกชน  เรื่อง “การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ทั่วประเทศ”

          ภาคเอกชนเห็นความสำคัญของแรงงาน โดยเฉพาะความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต เนื่องจากเป็นองค์ประกอบสำคัญของภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันการปรับ ขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ผู้ประกอบการและแรงงาน รวมทั้งประชาชน สามารถดำรงอยู่ได้ ซึ่ง ภาคเอกชน มีความห่วงใยต่อปัญหาดังกล่าว

          นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยืนยัน แนวทางการพิจารณาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้
          1. ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ทั่วประเทศ เนื่องจากกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
          2. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นไปตามกลไกตลาด
          3. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการไตรภาคี โดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง
          4. หากรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ส.อ.ท. เสนอให้รัฐบาลหาแนวทางจ่ายส่วนต่างของค่าจ้างดังกล่าว

          นายดุสิต นนทะนาคร ประธาน หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมและแสดงข้อกังวล ดังนี้
          1. ระยะสั้น ธุรกิจของประเทศไทยส่วนใหญ่ เป็นขนาดเล็ก (SMEs) จะได้รับผลกระทบอย่างมากต่อการปรับค่าจ้าง โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ไม่สามารถที่จะแบกรับภาระต้นทุนดังกล่าวได้

          2. ระยะยาว การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท จะทำให้ค่าจ้างแรงงานของไทยสูงโดยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นประเทศไทยอาจสูญเสีย ความสามารถในการแข่งขันในการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งโดยปกติจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยปีละประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งอาจจะปรับลดได้ปีละ 25% หรือ 1 แสนล้านบาท และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อาจทำให้ราคาสินค้าของไทยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดโลก

          ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ภาคเอกชน สนับสนุนนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ในสังคมไทย แต่เนื่องจากธุรกิจเอกชนมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันมาก หากมีการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวันจะมีผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ มากน้อยไม่เท่ากัน ภาคเอกชนเห็นว่าการขึ้นค่าแรงจะต้องมีมาตรการเสริมเพื่อรองรับอย่างเหมาะสมเพื่อประกอบการตัดสินใจในการปรับตัวและวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ จึงขอความชัดเจนในประเด็นต่อไปนี้

          1. หากมีการขึ้นค่าแรงจะมีขอบเขตคลอบคลุมพื้นที่ต่างๆ อย่างไร ? และจะมีขั้นตอนการขึ้นอย่างไร?
          2. รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพ ( productivity) ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการลดความเลื่อมล้ำอย่างไร ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
          3 สำหรับธุรกิจที่อาจจะต้องลดการจ้างงาน หรือเลิกกิจการ รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาและรองรับคนที่ตกงานอย่างไรบ้างหรือไม่

ความเห็นของที่ประชุม กกร. นัดพิเศษ
          เห็นว่ามีผลกระทบทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน รวมทั้งประชาชน จึงพร้อมจะหารือกับภาครัฐ หาแนวทางร่วมกัน เพื่อประโยชน์กับทุกภาคส่วน

ที่มา : กกร.