เนื้อหาวันที่ : 2011-07-21 13:29:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1340 views

ดัชนีอุตฯ มิ.ย. วูบ น้ำมัน ศก.โลก การเมืองฉุด

ส.อ.ท. ชี้ราคาน้ำมัน เศรษฐกิจโลก การเมืองในประเทศ สาเหตุหลักฉุดความเชื่อมั่นภาคอุตฯ หด วอนรัฐหาทางลดผลกระทบขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

 

          ส.อ.ท. ชี้ราคาน้ำมัน เศรษฐกิจโลก การเมืองในประเทศ สาเหตุหลักฉุดความเชื่อมั่นภาคอุตฯ หด วอนรัฐหาทางลดผลกระทบขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

          นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมิถุนายน 2554 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,046 ตัวอย่าง ครอบคลุม 40 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 107.4 จากระดับ 108.3 ในเดือนพฤษภาคม ค่าดัชนีที่ปรับลดลงเกิดจากองค์ประกอบของดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับลดลงของค่าดัชนี ได้แก่ ภาวะน้ำท่วมหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ความกังวลเกี่ยวกับการเมืองภายในประเทศและสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนียังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี โดยมีปัจจัยบวกจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ผลผลิตทางการเกษตรยังส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกร รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคการส่งออกก็ยังอยู่ในระดับที่ดีอีกด้วย

          สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 113.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 111.2 ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

          ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ ในเดือนมิถุนายน พบว่า อุตสาหกรรมขนาดย่อม และขนาดกลางปรับตัวลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อม มีดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 95.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 110.3 ในเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิต และหินอ่อน (มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ ยอดส่งออกแผ่นกระเบื้อง และหินอ่อนลดลง) และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (ปุ๋ยชีวภาพ และผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชมียอดขายในประเทศลดลง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 112.6 ในเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

          อุตสาหกรรมขนาดกลาง มีดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 104.2 ปรับตัวลงเล็กน้อย จากระดับ 104.3 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องประดับ (ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ) อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (ขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือในการออกแบบ ยอดขายเฟอร์นิเจอร์ไม้ในประเทศลดลง)

อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (ยอดขายรถสำหรับการเกษตรมียอดขายในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ยอดการส่งออกฟอยล์ถนอมอาหารไปประเทศจีน และญี่ปุ่นลดลง ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 111.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 107.7 ในเดือนพฤษภาคม ส่วนองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 121.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 112.1 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ยอดขายผลิตภัณฑ์ประเภทเส้นด้าย ผ้าทอ เพิ่มขึ้นจากประเทศในภูมิภาคอาเซียน ผลิตภัณฑ์ประเภทเส้นใย เส้นไหมดิบ ด้าย มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 121.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 114.6 ในเดือนพฤษภาคม ส่วนองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค ประจำเดือนมิถุนายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลาง และภาคตะวันออกปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา

          ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 108.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 106.6 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยในภาคกลาง การบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนยังมีการขยายตัว รวมทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ผนวกกับผลของภัยพิบัติในญี่ปุ่นที่คลี่คลายในทางที่ดีขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกลับมาผลิตได้ตามปกติ

สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ยอดขายผลิตภัณฑ์ประเภทเส้นด้าย ผ้าทอ เพิ่มขึ้นจากประเทศในภูมิภาคอาเซียน ผลิตภัณฑ์ประเภทเส้นใย เส้นไหมดิบ ด้าย มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) อุตสาหกรรมหนัง และผลิตภัณฑ์หนัง (แผ่นหนังสำเร็จรูป และหนังฟอกมียอดขายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ปูนซีเมนต์มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการสาธารณูปโภคของรัฐบาล) อุตสาหกรรมแก้วและกระจก (ยอดคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น จากผลิตภัณฑ์ประเภทกระจกบาน กระจกแปรสำเร็จรูป) อุตสาหกรรมยานยนต์ (รถยนต์นั่งขนาดเล็ก มียอดขายและยอดคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น) อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศมีการส่งออกไปประเทศตะวันออกกลาง อเมริกา ยุโรปเพิ่มขึ้น

สินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดผลิต และยอดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศภายในประเทศสูงขึ้น) อุตสาหกรรมอาหาร (ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้สด/แช่แข็ง อาหารกระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งมียอดการส่งออกไปอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีนเพิ่มขึ้น น้ำผัก/ผลไม้บรรจุขวดมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น อาหารสัตว์ทั้งในรูปวัตถุดิบ และอาหารสำเร็จรูปมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นในประเทศพม่า ลาว และมาเลเซีย) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 115.7 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 110.5 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 97.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 103.8 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีปรับตัวลดลง เพราะภาคเหนือประสบปัญหาสภาวะอากาศแปรปรวน และเกิดอุทกภัยในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (จากยอดส่งออกแผ่นกระเบื้องไปประเทศเพื่อนบ้านลดลง และยอดขายในประเทศที่ลดลง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.8 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 104.2 ในเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 103.0 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 103.6 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคการเกษตรยังทรงตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากอยู่นอกฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน และปัญหาความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล (ยอดขายน้ำตาลทรายทั้งในและต่างประเทศลดลง) และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (ยอดขายปุ๋ยชีวภาพ และสารกำจัดศัตรูพีชในประเทศลดลง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 106.2 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ

          ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 117.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 114.4 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยในภาคตะวันออก อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มมีการขยายตัว เนื่องจากภัยพิบัติในญี่ปุ่นเริ่มคลี่คลาย และภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ (มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์มากขึ้น

ยอดการส่งออกกระเบื้องหลังคาไปประเทศพม่า ลาว เวียดนาม จีน และฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (ผลของภัยพิบัติในญี่ปุ่นเริ่มคลี่คลาย ทำให้ยอดคำสั่งซื้ออุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า (เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้ยอดการใช้ไฟฟ้าตามอาคาร บ้านเรือน โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง) และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (เม็ดพลาสติก เม็ดไนลอน มียอดคำสั่งซื้อ จากประเทศ จีน ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น เอทิลินโพรไพลิน โพลิออล และโพลิออลผสม มียอดขายจากประเทศ จีน มาเลเชีย อเมริกา เพิ่มขึ้น) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 117.7 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 117.1 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิต

          ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 101.7 โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 115.3 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ซึ่งต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาสินค้า จึงส่งผลกระทบต่อการชะลอคำสั่งซื้อของลูกค้า

สำหรับอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงเลื่อย และโรงอบไม้ (ยอดขายไม้ยางพาราแปรรูปในประเทศลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ชะลอการสั่งซื้อ) อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น (สินค้าประเภทหัตถกรรมไม้ มียอดขายในประเทศลดลง) และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 116.9 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

          ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศปรับตัวลดลง ส่วนกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 106.6 ปรับลดลงจากระดับ 107.9 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 113.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 110.2 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 112.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 111.0 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า (รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง และส่วนประกอบของรองเท้า มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมเซรามิก (ผลิตภัณฑ์ประเภทเซรามิคมียอดคำสั่งซื้อไปประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรปเพิ่มขึ้น)

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศมีการส่งออกไปประเทศตะวันออกกลาง อเมริกา ยุโรปเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมอาหาร ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 115.4 ปรับลดลงจากระดับ 117.4 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ

          สำหรับด้านสภาวะแวดล?อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจาก สถานการณ์ราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมา คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สถานการณ์ทางการเมือง และอัตราแลกเปลี่ยนตามลำดับ โดยพบว่าปัจจัยที่มีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากการเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

          อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ที่มีต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ภาครัฐควรเร่งหาแนวทางการลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่ามากนัก เร่งสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สนับสนุนการผลิตเหล็กต้นน้ำ รวมทั้งเร่งผลักดันโครงการขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจอีกด้วย 
 
ที่มา : ส.อ.ท.