เนื้อหาวันที่ : 2011-07-19 16:27:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 955 views

PayPal เผยปี 53 คนไทยช็อปปิ้งออนไลน์เฉียด 15 พันล้านบาท

PayPal เผยผลศึกษาผู้บริโภคไทยใช้จ่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์เป็นมูลค่าสูงถึง 14.7 พันล้านบาทในปี 53 แนะผู้ค้าปลีกเร่งปรับกลยุทธ์ชิงโอกาสต่อยอดธุรกิจ

          PayPal เผยผลศึกษาผู้บริโภคไทยใช้จ่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์เป็นมูลค่าสูงถึง 14.7 พันล้านบาทในปี 53 แนะผู้ค้าปลีกเร่งปรับกลยุทธ์ชิงโอกาสต่อยอดธุรกิจ

          PayPal เผยผลศึกษาผู้บริโภคไทยใช้จ่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์เป็นมูลค่าสูงถึง 14.7 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมาแนะผู้ค้าปลีกไทยปรับกลยุทธ์เพิ่มช่องทางจำหน่าย เพื่อเข้าถึงผู้ซื้อกำลังซื้อสูงในระบบออนไลน์ และชิงโอกาสต่อยอดธุรกิจในตลาดออนไลน์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

          เป็นครั้งแรกที่ PayPal เปิดเผยถึงผลการศึกษา “ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการซื้อสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตและผ่านโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย”   ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มและทัศนคติที่ตอกย้ำกิตติศัพท์คนไทยว่าเป็นขาช็อปตัวยงที่เชี่ยวชาญการช็อปออนไลน์เป็นอย่างดี  จากผลการวิจัยของ PayPal ซึ่งถูกจัดทำโดยบริษัท นีลเส็นพบว่า ในปี 2553 ขนาดของตลาดการซื้อสินค้าออนไลน์ของประเทศไทยมีมูลค่า 14.7 พันล้านบาท โดยมีจำนวนผู้ซื้อสินค้าออนไลน์คนไทยถึง  2.5 ล้านคน (อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป) มียอดใช้จ่ายเงินเฉลี่ยต่อคนถึง 13,181 บาท  โดย 71% ของยอดรวมการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมดมาจากกลุ่มชนที่มีรายได้ปานกลาง  ในประเทศไทย

          “ตลาดการซื้อสินค้าออนไลน์ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีมูลค่าตลาดเกือบ 15,000 ล้านบาทนั้นบ่งบอกว่านักช็อปคนไทยมองเห็นประโยชน์มากมายจากการซื้อสินค้าและบริการผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเขา”  เป็นคำกล่าวของ มร. เอเลียส กาห์เน็ม กรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้จัดการใหญ่ของ PayPal  ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย   “ผู้บริโภคคนไทยชื่นชอบการซื้อสินค้าบนเว็บไซต์         ในประเทศมากพอ ๆ กับเว็บไซต์ต่างประเทศ  และใช้สื่อออนไลน์เพื่อหาซื้อสินค้าที่แตกต่างและหลากหลาย  และไม่ใช่เพื่อมองหาสินค้าราคาถูกที่สุดเพียงอย่างเดียว ดังนั้นผู้ค้าปลีกภายในประเทศมีโอกาสที่จะแข่งขันกับเว็บไซต์ต่างประเทศ  และควรจะเร่งสร้างร้านค้าออนไลน์ในทันทีเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีมูลค่าสูงถึง 14.7 พันล้านบาท”

           ผู้บริโภคคนไทย ใช้จ่ายเงินเกือบเท่ากันในการซื้อสินค้าปลีกออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ในประเทศคิดเป็นมูลค่า 6.1 พันล้านบาท (41%) เทียบกับเว็บไซต์ต่างประเทศ 6.4 พันล้านบาท (44%) ส่วนที่เหลือ 2.2 พันล้านบาท (15%)   เป็นการซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ที่ไม่ระบุประเทศ  ทั้งนี้ ผลการศึกษายังระบุถึงเหตุจูงใจของนักช็อปไทยในการซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ต่างประเทศคือ “สินค้านี้ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย” (45%) “ผลิตภัณฑ์/บริการมีราคาถูกกว่า” (36%) และ “มีความสะดวกในการซื้อเทียบเท่ากับการซื้อผ่านระบบออนไลน์ในประเทศ” (30%) ดังนั้นผู้ขายสินค้าชาวไทยมีโอกาสกำชัยชนะจากการเติบโตของตลาดการซื้อสินค้าออนไลน์ในประเทศไทย ได้ไม่ยากเพียงจัดเตรียมสินค้าบนร้านค้าออนไลน์ของตนเองให้มีความหลายหลายเพิ่มมากขึ้น

          นอกเหนือจากการให้ข้อมูลภาพรวมตลาดการซื้อสินค้าออนไลน์ที่คึกคักแล้ว ผลการศึกษาในครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทยเมื่อซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์และผ่านโทรศัพท์มือถือ  โดยมีข้อสรุปที่สำคัญดังนี้:

• ไม่จำกัดแค่การจองตั๋วเครื่องบินและการจองห้องพักโรงแรม
          o ประเภทสินค้าที่นักช็อปไทยเลือกซื้อออนไลน์มีความหลากหลาย ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการซื้อสินค้าออนไลน์กำลังกลายเป็นกระแสนิยมและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนไทย
                    - สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องแต่งตัว สุขภาพ ความงาม เครื่องประดับ นาฬิกา) คิดเป็นมูลค่า 3.1 พันล้านบาท (21%)
                    - สาระบันเทิง (หนังสือ ภาพยนตร์ เพลง เกมส์ การแสดง) คิดเป็นมูลค่า 3.1 พันล้านบาท (21%) 
                    - ผลิตภัณฑ์ไอที (ฮาร์ดแวร์/ซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัว/ในบ้าน) คิดเป็นมูลค่า 2.4 ล้านบาท (16%)
                    - การเดินทาง (ตั๋วเครื่องบิน เรือสำราญ รถไฟ และแพ็คเกจท่องเที่ยว) คิดเป็นมูลค่า 1.8 พันล้าน (13%)
                    - การประกันภัยทั่วไป คิดเป็นมูลค่า 1.1 พันล้านบาท (11%)

          o สินค้าที่ผู้บริโภคชาวไทยเลือกซื้อผ่านเว็บไซต์ในประเทศและต่างประเทศแตกต่างกัน

          o คนไทยใช้จ่ายเงินซื้อตั๋วเครื่องบินในเว็บไซต์ต่างประเทศถึง 61% (696 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับเว็บไซต์ท้องถิ่น (433 ล้านบาท)

          o คนไทยใช้จ่ายเงินมากกว่า 27% สำหรับเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับในเว็บไซต์ต่างประเทศ (716 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับเว็บไซต์ท้องถิ่น (562 ล้านบาท)

          o อย่างไรก็ตามคนไทยใช้จ่ายเงินมากกว่า 17% สำหรับหนังสือในเว็บไซต์ท้องถิ่น (655 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับเว็บไซต์ต่างประเทศ (561 ล้านบาท)

          o คนไทยยังใช้จ่ายเงินมากกว่า 11% สำหรับสินค้าสุขภาพและความงามในเว็บไซต์ในประเทศ (526 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับเว็บไซต์ต่างประเทศ (473 ล้านบาท)

          o มีการซื้อขายผลิตภัณฑ์/บริการทางด้านการเงิน (427 ล้านบาท) ในเว็บไซต์ในประเทศเป็นส่วนใหญ่

          o ประเทศ 5 อันดับแรกที่คนไทยใช้จ่ายเงินซื้อของบนเว็บไซต์ต่างประเทศคือ สหรัฐอเมริกา (27%) ญี่ปุ่น (15%) จีน (14%) เกาหลีใต้ (13%) และฮ่องกง (10%)

• การเสริมความแข็งแกร่งด้านระบบรักษาความปลอดภัยสามารถช่วยเพิ่มปริมาณการซื้อสินค้าออนไลน์ได้
          o คนไทยที่ซื้อสินค้าออนไลน์ 4 ใน 10 คนกล่าวว่ามาตรการการรักษาความปลอดภัยระบบออนไลน์ของบัตรเครดิต/เดบิตในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ

          o คนไทยที่ซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่า 6 คนใน 10 คนเชื่อว่าพวกเขากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงทุกครั้งที่ทำธุรกรรมออนไลน์โดยใช้บัตรเครดิต/เดบิตของพวกเขา

          o อย่างไรก็ตามการเพิ่มมาตรการด้านระบบรักษาความปลอดภัยมีส่วนในการการโน้มน้าวให้ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่าครึ่งหนึ่งใช้จ่ายเงินในการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

          o ในความเป็นจริงแล้ว (58%) ของผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ที่มีรายได้ปานกลาง  เต็มใจที่จะเพิ่มการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้นถ้าระบบรักษาความปลอดภัยได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งนี้ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์กลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดของผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ทั้งหมด (71%)

          สุดท้ายคือข้อค้นพบที่สำคัญสำหรับการซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือแสดงให้เห็นว่าเอ็ม-คอมเมิร์ซ                    (m-commerce) กำลังอยู่ในขั้นเริ่มต้นแต่ก็มีศักยภาพในการเติบโตเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

• ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่า 837,000 คนใช้จ่ายราว 1.7 พันล้านบาทผ่านโทรศัพท์มือถือในปี 2553 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 11% ของมูลค่ารวมของตลาดการซื้อสินค้าออนไลน์

• โดยปกติแล้วผู้ซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือจะซื้อสินค้าราคาถูกเช่น การดาวน์โหลดภาพยนตร์/เพลง/เกมส์ (27%) เสื้อผ้า/รองเท้า/เครื่องประดับ (23%) หนังสือ (19%) และตั๋วภาพยนตร์/การแสดง (11%) และคิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนราว 1,600 บาทในปีที่ผ่านมา

• ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ 4 คนจาก 10 คนเต็มใจที่จะซื้อสินค้าผ่านทางโทรศัพท์มือถือ

• อุปสรรคสำคัญ 3 ประการสำหรับการซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือคือ การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของโทรศัพท์มือถือที่มีความเร็วต่ำ (54%) ขนาดหน้าจอมือถือที่เล็กเกินไป (44%) และปัญหาเรื่องระบบการรักษาความปลอดภัย (29%)

          จากผลการศึกษาการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์และผ่านโทรศัพท์มือถือ  มร. เอเลียสได้กล่าวย้ำว่า “เรื่องเร่งด่วนที่ผู้ประกอบการไทยควรเร่งดำเนินการในทันทีคือ การนำกลยุทธ์การจัดจำหน่ายหลายช่องทางมาประยุกต์ใช้โดยเร็วเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ทั้งในร้านค้า ร้านค้าออนไลน์ และผ่านโทรศัพท์มือถือ  ในขณะเดียวกันก็ควรมีการจัดเตรียมสินค้าที่มีความหลากหลายมากกว่าเดิมและเพิ่มตัวเลือกในการชำระเงินที่มีความปลอดภัยมากขึ้นภายในเว็บไซต์ของตนเอง  ในการเพิ่มยอดขายสินค้าให้กับผู้ซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ ควรมีตัวเลือกวิธีการชำระเงินบนโทรศัพท์มือถือที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยสามารถทำธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์ได้รวดเร็วเพียงไม่กี่คลิกเท่านั้น”