บัวหลวง วิเคราะห์ผลกระทบจากเงินเฟ้อต่อนักลงทุนเผยทำให้ต้นทุนพุ่ง กำไรต่ำ ชี้นักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้อาจขาดทุนได้
Bualuang House View ผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อต่อนักลงทุน
ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างโดดเด่น เมื่อเทียบกับทั้งกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเดียวกันกับไทย และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา หรือกลุ่มประเทศยุโรปที่ยังประสบปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แต่ว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจนั้นย่อมมาพร้อมกับปัญหาสำคัญคือ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นร้อยละ 4.06 ในเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งสาเหตุสำคัญของการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยมาจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.76 เทียบเดือนมิถุนายนของปี 2553 ซึ่งกลุ่มอาหารเป็นกลุ่มที่มีการถ่วงน้ำหนักมากที่สุดถึงร้อยละ 33 ในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน
แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจะสะท้อนราคาสินค้ากลุ่มอาหารที่ปรับสูงขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา แต่ว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว ยังไม่ใช่อัตราเงินเฟ้อที่สะท้อนความเป็นจริง จากการที่ภาครัฐได้ออกมาตรการควบคุมราคาสินค้าและน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนแบกรับภาระต้นทุนไประยะเวลาหนึ่ง ทำให้อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน ยังไม่ใช่อัตราเงินเฟ้อที่ควรจะเป็นตามราคาสินค้าในตลาดโลก
ดังนั้น จึงคาดว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ถ้าไม่มีการต่ออายุของมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่จะหมดลงในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2554 เช่น การควบคุมราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร (หมดอายุเดือนกันยายน) แผนการลอยตัวราคาก๊าซธรรมชาติในอุตสาหกรรมการผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคม และการปรับขึ้นของราคาสินค้าอื่นๆ ให้เพิ่มขึ้น เพื่อสะท้อนต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนที่จะปรับตัวสูงขึ้น ตามนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของภาครัฐ เป็นต้น
อีกทั้งยังมีปัจจัยกดดันจากราคาสินค้าอาหารตามความต้องการสินค้าอาหารทั่วโลกที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการบริโภคในระดับสูงของกลุ่มประเทศ Emerging Market ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น สวนทางกับการลดลงของปริมาณผลผลิตจากภัยธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ ทั้ง อุทกภัย วาตภัย แผ่นดินไหว และความแห้งแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ผลิตอาหารรายสำคัญของโลกอย่างมาก จนทำให้ราคาสินค้าอาหารสดในตลาดโลกหลายประเภทปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกดดันจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จากปัญหาความไม่สงบในบริเวณตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ รวมทั้งการฟื้นตัวของความต้องการบริโภคน้ำมันของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคน้ำมันมากที่สุดในโลกหรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของการบริโภคน้ำมันของโลก ซึ่งสหรัฐอเมริกากำลังมีเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการผลิตของเอกชน
สำหรับผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อต่อนักลงทุนนั้นมีได้หลายรูปแบบ เช่น อัตราเงินเฟ้อในระดับสูงแสดงให้เห็นถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคเอกชน ซึ่งบริษัทบางแห่งไม่สามารถผลักภาระดังกล่าวให้กับผู้บริโภคได้ทั้งหมดจากการถูกควบคุมราคาโดยภาครัฐ และเพื่อรักษาความสามารถของการแข่งขันในตลาด จึงส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับลดลงอย่างชัดเจนและอาจส่งผลเชิงลบต่อราคาหุ้นของบริษัท
สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งให้ผลตอบแทนในรูปอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดอายุตราสารนั้น เมื่ออัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับ เท่ากับว่า อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับนั้นน้อยกว่าการลดลงของค่าเงิน หรืออีกนัยนึงคือ นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่แท้จริงติดลบ (ขาดทุน) นั่นเอง ดังนั้น ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงนั้น นักลงทุนทุกคนควรเลือกรูปแบบการลงทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อได้ และควรหลีกเลี่ยงการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนในระดับคงที่ หรือนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในทางเลือกใหม่อย่างพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation-Linked Bond) อายุ 10 ปีของกระทรวงการคลังที่จะออกจำหน่ายในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนที่ปรับเปลี่ยนไปตามอัตราเงินเฟ้อของประเทศ ทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนในรูปของ Total Return ไม่ต่ำกว่ากว่าอัตราเงินเฟ้อตลอดอายุพันธบัตรดังกล่าว
หมายเหตุ : ข้อมูลในเอกสารนี้ รวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งนี้ บลจ.บัวหลวง ไม่สามารถยืนยันหรือรับรองความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว และไม่ว่ากรณีใด บทวิเคราะห์ในเอกสารนี้ มิได้เป็นการชี้นำในการตัดสินใจ หรือโฆษณาการดำเนินธุรกิจของบริษัท การตัดสินใจใดๆ ของผู้อ่าน ล้วนเป็นการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน ซึ่ง บลจ.บัวหลวง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น
ที่มา : บัวหลวง