ปัญหาการเมืองรุมเร้า พิษเงินบาทแข็งทำเศรษฐกิจปั่นป่วนฉุดหนี้วูบหมื่นล้าน แบงก์เทขายบาทกดค่าเงินทะลุ 35 เรื่องมาตรการกันสำรอง 30% นั้นแม้ไม่มีผลในทางปฏิบัติแล้ว แต่ธปท.คงต้องมีมาตรการเสริม
ปัญหาการเมืองรุมเร้า พิษเงินบาทแข็งทำเศรษฐกิจปั่นป่วนฉุดหนี้วูบหมื่นล้าน แบงก์เทขายบาทกดค่าเงินทะลุ 35 เรื่องมาตรการกันสำรอง 30% นั้นแม้ไม่มีผลในทางปฏิบัติแล้ว แต่ธปท.คงต้องติดตามมาตรการเสริมเรื่องการประกันความเสี่ยงว่าจะมีผลอย่างไร |
. |
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ทำเรื่องมายังกระทรวงการคลังเพื่อขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาการออกพันธบัตรวงเงิน 4 แสนล้านบาทเพิ่มเติม เพื่อดูดซับสภาพคล่องในระบบเพื่อดึงเงินบาทคืนมาหลังจากแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการเข้าซื้อดอลลาร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ธปท.เคยออกพันธบัตรมียอดคงค้างอยู่สูงถึง 1.1 ล้านล้านบาทไปแล้ว |
. |
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า แผนการออกพันธบัตรล็อตใหม่ของ ธปท. ถือเป็นเรื่องจำเป็นในการดำเนินนโยบายของ ธปท. แต่จะออกมากหรือน้อยแค่ไหนจะมีการปรึกษากับกระทรวงการคลังเป็นคราวๆไป ส่วนการจะพิจารณายกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศนั้น นางธาริษา กล่าวว่า เมื่อมีจังหวะที่ดี คือหากเห็นว่าการให้ทางเลือกในการทำประกันความเสี่ยงได้ผลในทางปฏิบัติในการดูแลค่าเงินบาท ไม่มีการรั่วไหลก็สามารถยกเลิกได้ทันที |
. |
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวว่า เรื่องมาตรการกันสำรอง 30% นั้นแม้ไม่มีผลในทางปฏิบัติแล้ว แต่ธปท.คงต้องติดตามมาตรการเสริมเรื่องการประกันความเสี่ยงว่าจะมีผลอย่างไร เพราะไม่มีใครทราบว่ามาตรการใดเป็นมาตรการที่ดีที่สุด แม้กระทั่งข้อเสนอเรื่องมาตรการภาษีหัก ณ ที่จ่าย ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อให้ทราบว่าในระยะปานกลางนั้นมาตรการในการควบคุมเงินไหลเข้าประเภทใดที่เหมาะสมที่สุด |
. |
รมว.คลัง กล่าวว่า ส่วนการที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี) มองว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในปีนี้อาจโตไม่ถึง 4% นั้น ถือว่ามีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจของไทยอาจเติบโตไม่ได้ตามค่าเฉลี่ยในระดับปกติที่ประมาณ 6% เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงยังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ดังนั้นจึงอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอลงกว่าปกติที่ควรจะเป็น |
. |
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักเงินกู้ ตลาดเงินทุนต่างประเทศ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือสบน. เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 50 ณ สิ้นไตรมาส 2 สบน.ได้ดำเนินการบริหารหนี้และความเสี่ยงหนี้เงินกู้ต่างประเทศของรัฐบาลเสร็จสิ้นไปแล้วจำนวน 1,332 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 43% ของหนี้ทั้งหมด ทำให้สามารถลดเงินต้นได้กว่า 18,000 ล้านบาท และลดดอกเบี้ยได้ 810 ล้านบาท โดยมีหนี้ต่างประเทศคงค้างเหลืออยู่ที่ 153,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐซึ่งการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 3 บาท จาก 38 บาทต่อดอลลาร์เป็น 35 บาทต่อดอลลาร์นั้นทำให้หนี้ลดลงประมาณ 3 บาทต่อดอลลาร์หรือ คิดเป็นเงิน 15,000 ล้านบาท |
. |
ที่มา : ข่าวสด |