เนื้อหาวันที่ : 2007-04-02 09:09:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1729 views

อุตฯ เหล็กป่วนวัตถุดิบขาดมือกระทบเป็นลูกระนาด แถมราคาพุ่ง

วงการเหล็กป่วน เกิดภาวะตึงตัว ดึงราคาเหล็กทั้งระบบพุ่ง สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะฯร้อง 2 ยักษ์ จี สตีล -สหวิริยา กั๊กสินค้าไว้ส่งออก ทำวัตถุดิบขาดมือ สะเทือนถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง วงการเหล็กแผ่นยอมรับราคาผันผวนมากไม่กล้าตุนวัตถุดิบล่วงหน้า แถมเศรษฐกิจในประเทศไม่ดี ดิ้นหาทางรอดโดยส่งออกมากขึ้น

เหล็กต้นน้ำในตลาดโลกช็อต! จีน รัสเซีย ลดส่งออกทั่วโลกทำวงการเหล็กป่วน เกิดภาวะตึงตัว ดึงราคาเหล็กทั้งระบบพุ่ง สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะฯร้อง 2 ยักษ์ จี สตีล -สหวิริยา กั๊กสินค้าไว้ส่งออก ทำวัตถุดิบขาดมือ สะเทือนถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง วงการเหล็กแผ่นยอมรับราคาผันผวนมากไม่กล้าตุนวัตถุดิบล่วงหน้า แถมเศรษฐกิจในประเทศไม่ดี ดิ้นหาทางรอดโดยส่งออกมากขึ้น

.

นายพิพัฒน์ ปรีดาวิภาต ประธานกรรมการบริษัท แอลพีเอ็น เพลทมิล จำกัด (มหาชน) หนึ่งในกลุ่มบริษัทผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนและชนิดแผ่น เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้เหล็กต้นน้ำ เช่น บิลเล็ตซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กทรงยาว และสแลปซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กทรงแบน รวมถึงเศษเหล็กกำลังอยู่ในภาวะตึงตัวมาก โดยมีสาเหตุมาจากที่ปีนี้ประเทศจีน อินเดีย รัสเซีย ยูเครน บราซิล ประเทศผู้ผลิตบิลเลตและสแลปรายใหญ่ในตลาดโลก มีเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวดี จึงส่งออกวัตถุดิบดังกล่าวมายังตลาดโลกน้อยลง และหันไปส่งออกเหล็กสำเร็จรูปแทนเนื่องจากมีมูลค่าเพิ่มจากการขายสูงขึ้น

.

ทั้งนี้เมื่อวัตถุดิบในการผลิตเหล็กเกิดภาวะตึงตัว ยิ่งทำให้ราคาเหล็กต้นน้ำ อย่างบิลเล็ตและสแลปพุ่งสูงขึ้นไปด้วย ล่าสุดราคาวัตถุดิบสูงขึ้นแล้วเฉลี่ย 10-15% เมื่อเทียบกับราคาวัตถุดิบเมื่อช่วงต้นปีนี้ ทั้งนี้ราคาบิตเลตจะอยู่ที่ 525 เหรียญสหรัฐ/ตัน จาก 475 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนราคาสแลปอยู่ที่ 510 เหรียญสหรัฐ/ตันจาก 470 เหรียญสหรัฐ/ตัน และมีความเป็นไปได้สูงที่ราคาในปีนี้จะพุ่งสูงถึง 20-30% จากปีที่ผ่านมาและสูงกว่าในปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาวัตถุดิบดังกล่าวเคยสูงมากเป็นประวัติการณ์มาแล้วโดยราคาบิตเล็ตอยู่ที่ 580 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ราคาสแลปอยู่ที่ 550 เหรียญสหรัฐ/ตัน

.

สอดคล้องกับที่นายพิบูลศักดิ์ อรรถบวรพิศาล ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทยไวร์โพรดัคท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตลวดเหล็ก กล่าวว่าขณะนี้บิลเล็ตและสแลปขาดแคลนจริง เพราะกำลังผลิตในตลาดโลกไม่พอกับความต้องการใช้ เริ่มมีสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี2459 ที่ประเทศไทยมีการนำเข้าสแลปและบิลเล็ตลดลง หลังจากที่วัตถุดิบในตลาดโลกเริ่มมีปริมาณลดลงด้วย ทำให้ราคาดีดตัวสูงขึ้นตามมาเป็นลำดับ เช่นเดียวกับที่ความต้องการใช้เหล็กในประเทศลดลง ทำให้ผู้ผลิตเหล็กอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้ล่วงหน้าท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซาอยู่ในขณะนี้

.

ด้านสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยเปิดเผยถึง สถิติการนำเข้าวัตถุดิบ(บิลเล็ต,สแลป)ปี2549 เปรียบเทียบปี2548 ได้ลดลงแล้ว โดยบิลเล็ตมีการนำเข้าเพียง 1,525,000 ตัน/ปี ซึ่งลดลงจากปี2548 ถึง 16% ขณะที่การนำเข้าสแลป มีจำนวน 2,840,000 ตัน/ปี ลดลงแล้ว 40% เช่นเดียวกับการนำเข้าเศษเหล็กจาก 1,680,000 ตัน/ปี เหลือเพียง 1,370,000 ตัน/ปี ลดลงแล้ว 18% ทั้งนี้การนำเข้าวัตถุดิบในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว จะมีผลโดยตรงกับการส่งมอบวัตถุดิบในไตรมาสแรกปี2550 โดยการนำเข้าส่วนใหญ่มาจากจีน, รัสเซีย และ ยูเครน

.

ด้านแหล่งข่าวจากสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่นเปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานผลิตท่อเหล็กชนิดต่างๆในประเทศ กำลังได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่มีเหล็กแผ่นรีดร้อนซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญใช้ในการผลิตอย่างต่อเนื่อง เข้าใจว่าผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนรายใหญ่จากบริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) และบริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน)หรือSSI กันสินค้าส่วนหนึ่งไว้สำหรับส่งออกในช่วงนี้ โดยล่าสุดราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนในตลาดโลกดีดตัวสูงขึ้นจาก 480-500 ดอลลาร์สหรัฐ/ตันในช่วงไตรมาสสี่ปี2549 ขึ้นมาเป็น 560-600 ดอลลาร์สหรัฐ/ตันในขณะนี้ ทำให้ราคาส่งออกไปยังตลาดโลกสูงกว่าขายในประเทศเฉลี่ย 5-10%

.

"เหล็กแผ่นรีดร้อนเริ่มขาดมือมาตั้งแต่ช่วงตรุษจีนเป็นต้นมา ทำให้ผู้ใช้ต่อเนื่องได้รับผลกระทบแล้วคือ ไม่สามารถส่งมอบสินค้า(ท่อเหล็ก)ได้ทันตามกำหนดเวลาส่งมอบจริง "

.

ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวระดับสูงจากหนึ่งในผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนรายใหญ่ กล่าวว่า เหล็กแผ่นรีดร้อนขาดช่วงหรือส่งมอบไม่ทันเพราะ ไม่มีสแลปผลิต ประกอบกับราคาสแลปได้พุ่งสูงขึ้นมาก นับตั้งแต่เดือนธันวาคม2549 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันราคาได้ถีบตัวสูงขึ้นมาแล้ว โดยราคาสแลป สูงขึ้นมาแล้ว20-25% โดยสูงขึ้นจาก 430-460 ดอลลาร์สหรัฐ/ตันมาเป็น520-550 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เช่นเดียวกับราคาบิลเล็ต ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กทรงยาวที่ขณะนี้ราคาสูงขึ้นมาถึง 520-530 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ซึ่งราคาสูงขึ้นมาแล้ว25-30%

.

"จากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาทำให้ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่กล้าที่จะกักตุนวัตถุดิบไว้จำนวนมาก เพราะราคาผันผวนมาก ราคาขึ้น-ลงไม่แน่นอน บวกกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศก็ไม่ดี ผู้ผลิตก็ต้องเอาตัวรอด โดยการส่งออกมากขึ้น เพราะตลาดในประเทศซื้อขายไม่แน่นอนในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีนี้"

.

สำหรับสาเหตุที่ราคาเหล็กและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเหล็กโดยเฉพาะสแลป และบิลเล็ต มีความผันผวนมากจนทำให้ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่มีวัตถุดิบใช้ และกระทบต่อเนื่องไปถึงผู้ใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนนั้น เกิดจากที่ประเทศที่ใช้วัตถุดิบเหล่านี้เป็นจำนวนมากอย่างประเทศตุรกีไปกว้านซื้อสแลปและบิลเล็ตผลิตเหล็กทรงยาวและเหล็กแผ่นเพื่อไปขายยังตะวันออกกลางมากขึ้น เพราะกำลังบูมในธุรกิจก่อสร้าง

.

ในขณะที่ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อย่างรัสเซีย เริ่มใช้เหล็กในประเทศมากขึ้นหลังจากที่เศรษฐกิจในรัสเซียเริ่มฟื้นตัวแล้ว ส่วนจีนพยายามไม่ดั๊มเหล็กราคาถูกออกมายังทั่วโลกมากแบบที่ผ่านมา โดยนโยบายของรัฐบาลจีนต้องการที่จะควบคุมให้มีการขายเหล็กในประเทศมากขึ้นและพยายามลดการอุดหนุนการส่งออก แบบที่ผ่านมา จากปัญหาเหล่านี้ทำให้วัตถุดิบในการผลิตเหล็กแผ่นมีช่วงในการขาดตลาด จนเป็นเหตุทำให้ราคาเหล็กทั้งระบบตั้งแต่เหล็กต้นน้ำไปยังเหล็กปลายน้ำดีดตัวสูงขึ้นมากในขณะนี้

.

อนึ่งปัจจุบันในประเทศมีผุ้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนรวมประมาณ 5.5ล้านตัน ความต้องการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศมีประมาณ 2.5 ล้านตัน/ปี ในจำนวนนี้กลุ่มผู้ผลิตท่อเหล็กจะใช้เหล็กแผ่นรีดร้อน/ปีประมาณ 800,000 1ล้านตัน/ปี ใกล้เคียงกับกำลังผลิตท่อเหล็กและเหล็กรูปพรรณขึ้นรูปเย็น ที่มีกำลังผลิตรวมกันที่ 1ล้านตัน/ปี 

.

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ