นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามนโยบาย และกฎระเบียบสินค้าเกษตรอินทรีย์ของอียู มีความคืบหน้าเพิ่มเติม ดังนี้
1. ระเบียบคณะกรรมาธิการยุโรปที่ 426/2011 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 แก้ไขระเบียบคณะกรรมาธิการยุโรปที่ (EC) No. 889/2008 เกี่ยวกับการผลิต การติดฉลาก และการควบคุมสินค้าเกษตรอินทรีย์ของอียู ดังนี้
1.1 ประเทศสมาชิกจะต้องเผยแพร่รายชื่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมและผ่านการรับรอง รวมทั้งเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งระบุรายละเอียดของผู้ผลิตและผู้ประกอบการ ประเภทของสินค้าอินทรีย์ และระยะเวลาการได้รับการรับรอง ผ่านสื่อต่าง ๆ ที่เหมาะสม รวมทั้งอินเตอร์เน็ต โดยเริ่มปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป
1.2 ประเทศสมาชิกจะต้องควบคุมดูแลการใช้ข้อมูลที่มีการเผยแพร่อย่างถูกต้องเหมาะสมตามข้อกำหนดใน Directive 95/46/EC
2. ระเบียบคณะกรรมาธิการยุโรป (EU) ที่ 344/2011 แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบ (EC) No. 889/2008 และ (EC) No. 834/2007 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 มีรายละเอียด ดังนี้
2.1 ผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ภายในประเทศสมาชิกที่จะนำตราสัญลักษณ์ EU Organic leaf มาใช้ จะต้องอยู่ภายใต้ระบบการตรวจสอบและควบคุมการผลิตแบบอินทรีย์ (Organic farming control system) เท่านั้น ในส่วนของสินค้าอินทรีย์ที่นำเข้าจากประเทศนอกอียู ผู้ประกอบการสามารถเลือกที่จะใช้หรือไม่ใช้สัญลักษณ์ EU Organic leaf ก็ได้
2.2 เพิ่มสารสกัดจากโรสแมรี่ หรือ Extracts of rosemary (E 392) เป็นสารเสริม (Additive) ที่อนุญาตให้ใช้ในกระบวนการผลิตแบบอินทรีย์
นายสุรศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากมีการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสินค้าเกษตรอินทรีย์หลายฉบับ ผู้ประกอบการไทยจึงควรทำความเข้าใจระเบียบแต่ละฉบับให้ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิต และการปฏิบัติตามระเบียบการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์จากประเทศที่สามของอียู เพื่อให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยมีส่วนแบ่งตลาดอียูเพิ่มมากขึ้น และสามารถสร้างรายได้ส่งออกให้ประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้สามารถสืบค้นรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ http://eur-lex.europa.eu/LexUriServ.do.uri=OJ:L:2011:096:0015:0016:EN:PDF และ
http://eur-lex.europa.eu/LexUriServ.do.uri=OJ:L:2008:160:0020:0021:EN:PDF
ที่มา :
1. สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์
2. สถาบันอาหาร
3. สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสภาพยุโรป