นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2554 สหรัฐฯ ได้บังคับใช้กฎหมาย Food Safety Modernization Act เพื่อควบคุมความปลอดภัยอาหารที่วางจำหน่ายภายในสหรัฐฯ อย่างเป็นระบบ รวมทั้งเพิ่มอำนาจให้หน่วยงาน Food and Drugs Administration (FDA) ในการตรวจสอบสินค้าอาหารที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ และเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2554 สหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการภายใต้กฎหมายดังกล่าว 2 มาตรการ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา ดังนี้
1. มาตรการด้านการกักกันสินค้า (Criteria for Administrative Detention) FDA มีอำนาจสั่งกักกันสินค้าได้ทันทีเป็นระยะเวลานานที่สุด 30 วัน หากมีเหตุหรือหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าสินค้าอาหารไม่ปลอดภัยและไม่สอดคล้องตามกฎระเบียบ เช่น มีการเจือปนหรือปนเปื้อน หรือติดฉลากไม่ถูกต้อง เป็นต้น โดยสินค้าจะถูกนำออกจากท้องตลาดจนกว่าเจ้าหน้าที่จะพิจารณาดำเนินการต่อสินค้านั้นแล้วเสร็จ
2. มาตรการด้านการแจ้งสินค้าอาหารที่ถูกปฏิเสธการนำเข้า (Information Required in Prior Notice of Imported Food) ผู้นำเข้าสินค้าอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ ต้องแจ้งชื่อประเทศที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าชนิดเดียวกันกับที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯ ต่อ FDA ซึ่งเป็นข้อกำหนดเพิ่มเติมในการแจ้งล่วงหน้า (Priority Notice)ในกฎหมายป้องกันการก่อการร้ายทางชีวภาพ (Public Health Security and Bioterrorism Preparedness and Response Act of 2002)
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎระเบียบดังกล่าวได้ที่ http://www.fda.gov/NewsEvents/Newsroom/PressAnnouncements/ucm253983.htm
นายสุรศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่ามาตรการใหม่ดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือให้ FDA สามารถบ่งชี้และจำกัดสินค้าอาหารที่จะก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกอาหารของไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรคำนึงถึงการผลิตสินค้าอาหารให้ปลอดภัยได้มาตรฐานตามที่สหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าอื่นๆ กำหนด เนื่องจากสินค้าที่มีปัญหาการนำเข้าในประเทศอื่น จะไม่สามารถนำเข้าสหรัฐฯ ได้ด้วย
อนึ่ง ในปี 2553 ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปสหรัฐฯ มูลค่า 116,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 7 ในปี 2554 (ม.ค.-เม.ย.) ส่งออกมูลค่า 33,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งส่งออก 32,000 ล้านบาท
ที่มา : http://www.fda.gov, กรมการค้าต่างประเทศ