เนื้อหาวันที่ : 2011-07-11 15:44:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1080 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 11 ก.ค. 2554

1. ทีดีอาร์ไอแนะรัฐบาลปรับค่าจ้างร้อยละ 70
          -ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอแนะให้รัฐบาลใหม่ให้พิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพียงร้อยละ 70 เท่ากันทุกจังหวัด โดยให้ทยอยปรับขึ้น 2-3 ครั้งภายใน 3 ปี ซึ่งจะทำให้ค่าจ้างเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 297.5 บาท ใกล้เคียงกับที่รัฐบาลตั้งไว้ ทั้งนี้หากปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทเท่ากันทุกจังหวัด จะทำให้ค่าจ้างที่จ่ายออกไปสูงกว่าผลิตภาพที่แท้จริงในบางจังหวัด

          -สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มค่าแรง จะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน เกิดการจับจ่ายใช้สอยในสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ค่าแรงมีสัดส่วนถึงร้อยละ 15-20 ของต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ การเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำจึงทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 54 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 (ประมาณการ ณ มิ.ย. 54) ซึ่งหากมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวสูงกว่าที่คาด

2. ชู 3 บิ๊กโปรเจกต์
          -พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รัฐบาลเพื่อไทยเตรียมเดินหน้าเมกะโปรเจกต์ 3 โครงการ ประกอบด้วยโครงการถมทะเล 2 – 3 แสนไร่ โครงการขนส่งระบบรางเพื่อขยายความเจริญออกไปจากกรุงเทพฯ และระบบการจัดการน้ำ 25 ลุ่มน้ำ โดยทุกโครงการสามารถหางบประมาณมาดำเนินการได้

          -สศค. วิเคราะห์ว่า การเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ทั้ง 3 โครงการคาดว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนภาครัฐซึ่งมีสัดส่วนที่ร้อยละ 5.6 ของ GDP ให้ขยายตัวเร่งขึ้นจากปี 53 ที่หดตัวร้อยละ -2.2 ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ของไทยในระยะต่อไปสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุนภาครัฐดังกล่าวเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ดังนั้น ภาครัฐต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินลงทุน โดยเฉพาะภาระต่องบประมาณและเงินกู้ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากบริหารจัดการอย่างขาดประสิทธิภาพอาจนำไปสู่วิกฤติหนี้สาธารณะดังเช่นประเทศในภูมิภาคยุโรป

3. จีนเกินดุลการค้าเดือนมิ.ย.54 ที่ระดับ 22.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
          -ดุลการค้าจีนในเดือน มิ.ย.54 เกินดุลมากกว่าคาดการณ์และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ 22.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออกที่อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 162 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 17.9 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ระดับ 139.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 19.3 ซึ่งถือเป็นการชะลอลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 52

          -สศค. วิเคราะห์ว่า การเกินดุลการค้าของจีนบ่งชี้ว่าการส่งออกของจีนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 54 การส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูงประมาณร้อยละ 24.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 54 จะยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากจีนเป็นปะเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 11.0 ของการส่งออกรวมในปี 53

ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 54 จะขยายตัวที่ร้อยละ 9.2 (ประมาณการ ณ เดือน มิ.ย. 54) อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจจีน คือ แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันและราคาอาหารที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนในประเทศ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง