1. ม.หอการค้า เผยนักธุรกิจขานรับนโยบายเพื่อไทย เชื่อดันเศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ร้อยละ 4-5
- นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยว่าจากการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจต่อนโยบายของพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พบว่านักธุรกิจเชื่อว่านโยบายต่างๆของพรรคจะมีส่วนช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4-5
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งได้รับแรงขับเคลื่อนทั้งจากอุปสงค์ภายในประเทศและภายนอกประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะยังคงขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อปี เนื่องจากการจ้างงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับนโยบายการปรับเพิ่มค่าแรงและเงินเดือนของรัฐบาลใหม่ รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรหลัก
ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.6 ต่อปี เนื่องจากคาดว่าผู้ประกอบการจะสามารถกลับมาผลิตในระดับปกติได้อีกครั้ง ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนภาวะเศรษฐกิจ โดยการบริโภคและการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 และ 3.6 ต่อปี ตามลำดับ รวมทั้งปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 54 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 9.0 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 54 ว่าจะสามารถขยายตัวร้อยละ 4.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0 – 5.0 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.54)
2. เวียตนามคาดปี 54 รายได้ส่งออกแตะ 8.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
- กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามคาดการณ์ว่า รายได้จากการส่งออกของเวียดนามในปี 54 อาจแตะที่ระดับ 8.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของรัฐสภาเวียดนามที่ 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากช่วงครึ่งปีแรกของปี 54 ที่มีมูลค่าการส่งออกรวม 4.23 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 54 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.1 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือน มิ.ย.54) โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการผลิตและการบริการ รวมทั้งการส่งออกซึ่งมีสินค้าส่งออกสำคัญคือ กลุ่มสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมง (ข้าว ยางพารา เมล็ดกาแฟ พริกไทย อาหารทะเล ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ) เสื้อผ้าสำเร็จรูปและรองเท้า น้ำมันเชื่อเพลิง แร่ธาตุ และสินค้าอุตสาหกรรม โดยมูลค่าการส่งออกและนำเข้าในเดือน มิ.ย.54 สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 29.6 และ 26.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ เวียดนามเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยมูลค่าการค้าระหว่างเวียดนามและไทยในปี 53 อยู่ที่ 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.0 ของประเทศคู่ค้าหลัก 16 ประเทศของไทย และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 54 อยู่ที่ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังเวียดนาม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป (RHS) เม็ดพลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
3. มูดี้ส์ลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของโปรตุเกสลงต่ำกว่าอันดับน่าลงทุน
- มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส หนึ่งในบริษัทเครดิตเรตติ้งยักษ์ใหญ่ของโลก ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของโปรตุเกสลง 4 ขั้นจาก Baa1 เป็น Ba2 ซึ่งต่ำกว่าอันดับน่าลงทุน การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวเป็นไปตามความกังวลที่ว่าโปรตุเกสจะไม่สามารถลดยอดขาดดุลงบประมาณ และรักษาเสถียรภาพหนี้ ได้ตามเป้าหมายในข้อตกลงขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถลดการใช้จ่าย ขึ้นภาษี กระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต และสนับสนุนระบบการธนาคารได้
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดอันดับเครดิตดังกล่าว สะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นของสถานการณ์หนี้สาธารณะของรัฐบาลโปรตุเกส ทำให้รัฐบาลของโปรตุเกสต้องเผชิญกับความท้าท้ายอื่นๆ ทั้งในด้านการระดมเงินทุนเพื่อการฟื้นฟูภาระหนี้สินของประเทศหลังวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะ การสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศ และการรักษาวินัยทางการคลังเพื่อลดยอดหนี้ เมื่อเดือนเม.ย. มูดีส์ได้ตัดลเครดิตของโปรตุเกสลง 1 ระดับจาก A3 ลงมาอยู่ที่ Baa1 เนื่องจากคาดการณ์ว่า โปรตุเกสต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญ
ทั้งนี้ ภาระหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ของโปรตุเกสยังมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 43 เป็นต้นมา ล่าสุด ณ ปี 53 หนี้สาธารณะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 93.0 ต่อ GDP จึงทำให้โปรตุเกสต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เป็นประเทศที่ 3 ต่อจากรีซ และไอร์แลนด์
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง