เนื้อหาวันที่ : 2007-03-30 08:41:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 935 views

เอฟทีเอ ขยะพิษ-จุลชีพ ไทย-ญี่ปุ่น ผ่าน ครม.ขมิ้นอ่อน ด้วยวลีสวยหรู

ศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้องให้คุ้มครองฉุกเฉิน เพื่อยับยั้งการลงนามเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ของกลุ่มนักวิชาการและประชาชนที่ร่วมคัดค้าน รัฐบาล "พอเพียง" ได้ใจ ตอกย้ำการเป็น ครม.ขมิ้นอ่อน มีมติเห็นชอบให้มีการลงนาม ในการเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 2-5 เม.ย.นี้

มาแปลกแวกแนวกับแนวคิดไอเดียของรัฐบาล "พอเพียง" ตอกย้ำการเป็น ครม.ขมิ้นอ่อน มีมติเห็นชอบให้มีการลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นในระหว่างการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 2-5 เม.ย.นี้  แหกตาประชาชนที่ร่วมคัดค้าน

.

จากการประชุมของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ได้มีมติเห็นชอบให้มีการลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ในระหว่างการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 2-5 เม.ย.นี้

.

ทั้งนี้ ดร.วีรชัย พลาศัย อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และหนึ่งในคณะเจรจา กระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ในการลงนามที่จะเกิดขึ้นนี้ ทางคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้จัดทำ "หนังสือแลกเปลี่ยน" รว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อสร้างความเข้าใจในข้อกังวล 2 ประเด็นใหญ่ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้คณะเจรจาไปดำเนินการแจ้งและเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่น

.

ส่วนสาระของหนังสือแลกเปลี่ยน ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลไทยยืนยันสิทธิและหน้าที่ของตนภายใต้อนุสัญญาบาเซิลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด ซึ่งทั้งญี่ปุ่นและไทยเป็นภาคี และยืนยันว่ารัฐบาลทั้งสองจะบังคับใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดกับการส่งออกหรือนำเข้าของเสียอันตรายและของเสียอื่นๆ ต่อไป

.

รัฐบาลทั้งสองยืนยันว่า เจเทปาไม่สนับสนุนการลักลอบขนย้ายของเสียอันตรายระหว่าง ประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย ไม่ว่าจะในทางใด

.

"เจเทปาไม่สร้างพันธกรณีให้ภาคีแต่ละฝ่ายไม่ว่าในทางใด ให้ต้องเห็นชอบ อนุญาต ยินยอม หรือให้สิทธิการส่งออกหรือนำเข้าของเสียอันตรายจากและไปยังประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย และเจเทปาไม่ขัดขวางการออกหรือบังคับใช้มาตรการใดๆ โดยประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศไทยเกี่ยวกับการส่งออกหรือนำเข้าของเสียอันตราย

.

สำหรับเรื่องสิทธิบัตรจุลชีพ ในหนังสือแลกเปลี่ยนได้ระบุไว้ว่า ตามวรรค 3 ของข้อ 130 ไม่สร้างพันธกรณีเกินกว่าความตกลงทริปสำหรับประเทศไทยไม่ว่าจะในทางใด ให้ต้องออกสิทธิบัตรใดๆ สำหรับจุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ภาคีแต่ละฝ่ายคงไว้ซึ่งสิทธิของตนที่จะตัดสินใจว่าจะออกสิทธิบัตรให้หรือไม่ สำหรับสิ่งที่ขอรับสิทธิบัตรสิ่งนั้นๆ ตามกฎหมายและข้อบังคับของตน ในลักษณะที่สอดคล้องกับความตกลงทริป

.

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรฒน์ กล่าวว่า กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการเร่งลงนามในข้อตกลงนี้จะดำเนินการยื่นฟ้องร้องรัฐบาลให้ศาลปกครองพิจารณาออกคำสั่งระงับการลงนามและอนุญาตให้มีการไต่สวนฉุกเฉินก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น

.

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ