การศึกษาเทคโนโลยีแปลงขยะเก่าเป็นพลังงานคืบ พบพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศกว่า 100 แห่ง เตรียมเดินหน้าทดลองอีก 3 แนวทาง
การศึกษาเทคโนโลยีแปลงขยะเก่าเป็นพลังงานคืบ พบพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศกว่า 100 แห่ง เตรียมเดินหน้าทดลองอีก 3 แนวทาง
พพ. เผยข่าวดี ความคืบหน้าการศึกษาเทคโนโลยีที่อาจแปลงขยะเก่าให้เป็นพลังงานทดแทนได้เบื้องต้นพบศักยภาพทั่วไทยกว่า 100 แห่ง เตรียมต่อยอดทดลอง 3 แนวทาง เช่น ดูดก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบเพื่อผลิตไฟฟ้า แปรรูปขยะเก่าเพื่อแยกพลาสติกผลิตน้ำมัน และอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิง ชี้หากส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ได้ประโยชน์สร้างรายได้หลายต่อ แถมช่วย อปท.จัดการของเสียย่อยได้อย่างยั่งยืน
นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลการศึกษาในปัจจุบันของ พพ. เรื่องการจัดการขยะจากหลุมฝังกลบขยะที่มีทั่วประเทศกว่า 200 หลุม และกระจายอยู่ทั่วประเทศใน 122 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมีหลุมฝังกลบที่ใช้งานอยู่ (หลุมใหม่) 90หลุม ใน 56 อปท. และหลุมฝังกลบที่ปิดใช้งานแล้ว (หลุมเก่า) 123 หลุม ใน 66 อปท.โดยในกลุ่มหลุมฝังกลบขยะเก่าที่ปิดใช้งานแล้ว พพ.ได้เข้าไปประเมินและศึกษาแนวทางที่เป็นไปได้ ที่อาจนำขยะเก่าขึ้นมาผลิตเป็นพลังงาน ซึ่งเบื้องต้นจากผลการศึกษา พบว่ามี 3 แนวทางที่คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ ได้แก่ ดำเนินการดูดก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบขึ้นมาเพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า
การนำขยะเก่าขึ้นมาเพื่อคัดแยกขยะที่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงาน อาทิ นำขยะพลาสติกไปเข้าขบวนการแปรรูปผลิตเป็นน้ำมัน หรือการอัดแท่งขยะเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าต่อไป โดยแนวทางนี้จำเป็นต้องมีการใช้เครื่องจักรในการขุด และจัดการร่อนขยะเพื่อคัดแยกขยะ แม้จะมีการลงทุนที่สูงและอาจไม่คุ้มค่า แต่ถือได้ว่าเป็นการจัดการกับขยะที่ย่อยสลายได้ยาก เพื่อสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต รวมทั้งนำพื้นที่หลุมฝังกลบเดิม มาพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะอื่นได้ต่อไป
ทั้งนี้ แนวคิดที่จะส่งเสริม และจัดการหลุมขยะเก่าเหล่านี้ เบื้องต้น พพ.พบว่าหลุมขยะเก่าหลายแห่ง ที่มีศักยภาพผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าหรือน้ำมัน รวมทั้งเป็นแท่งเชื้อเพลิงได้สูงถึงเกือบ 100 แห่ง และขณะนี้ พพ. อยู่ระหว่างประเมินแหล่งศักยภาพหลุมขยะเก่าเหล่านี้ เพื่อที่จะใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานทดแทนสูงสุด ซึ่งเบื้องต้นมี อปท.อย่างน้อย 10 แห่ง ที่มีศักยภาพผลิตก๊าซชีวภาพไปใช้งานได้ อาทิ เมืองพัทยา อบจ.นนทบุรี และเทศบาลขอนแก่น เป็นต้น
“พพ.อยากจะเรียนประสานให้ อปท.แต่ละแห่งที่มีหลุมขยะเก่าที่มีศักยภาพทราบว่า หลุมขยะเหล่านี้ไม่ใช่แค่ที่รวบรวมของเสียอีกต่อไปแล้ว แต่นับได้ว่าอาจเป็นแหล่งพลังงานทดแทนสำคัญของชาติที่ อปท.ดูแลอยู่ และอาจจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น และช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานอีกด้วย ซึ่ง พพ. อยากจะขอให้ อปท. พิจารณาแนวทางการส่งเสริมให้มีการร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความชำนาญด้านการแปรรูปขยะเป็นพลังงานเข้ามาลงทุน เพื่อร่วมกันเปลี่ยนให้หลุมขยะเก่า เป็นพลังงานทดแทน” นายไกรฤทธิ์กล่าว
นายไกรฤทธิ์ กล่าวเพิ่มว่า ปัจจุบัน จากข้อมูลของพพ. พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะชุมชนที่เกิดขึ้นมากถึง 41,000 ตันต่อวัน หรือประมาณ 15 ล้านตันต่อปี และมีกำลังการกำจัดได้เพียง 16,000 ตันต่อวัน หรือประมาณ 5.9 ล้านตันต่อปี โดยปริมาณขยะที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น ขยะจากเทศบาลแต่ละแห่งทั่วประเทศรวมเมืองพัทยา สูงถึง ร้อยละ 40 องค์กรบริหารส่วนตำบลอื่น ๆ ร้อยละ 39% และจากกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 21
ที่มา : กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)