เกร็ดความรู้เกี่ยวกับพืชผัก รสชาติที่แตกต่างกัน นำมาปั่นเป็นผัก น้ำหญ้าดื่มกิน เพื่อรักษาสมดุลในร่างกาย
:: ธนสาร สาสังข์
วันนี้ขอนำเสนอเกร็ดความรู้เกี่ยวกับพืชผัก รสชาติที่แตกต่างกัน นำมาปั่นเป็นผัก – น้ำหญ้าดื่มกิน ตามตำราในทางการแพทย์แผนไทย – แพทย์แผนจีน แพทย์ทางเลือก ได้ศึกษาพบว่าร่างกายของคนเราเวลาเจ็บป่วยต้องฟื้นบำรุงอวัยวะภายในให้แข็งแรง เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค โดยต้องใช้ “รสชาติ” ของอาหารหรือสมุนไพรต่างๆ ให้หลากหลาย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสมดุลและเหมาะสมกับธาตุภายในร่างกายของคนเรา ว่าต้องใช้พืชผัก “รสชาติ” ใดบ้าง เช่น
1.ธาตุดิน เหมาะสมกับ รสฝาด, รสหวาน, รสมัน รสเค็ม
2.ธาตุน้ำ เหมาะสมกับ รสขม, รสเปรี้ยว, รสเมาเบื่อ
3.ธาตุไฟ เหมาะสมกับ รสจืด, รสเย็น
4.ธาตุลม เหมาะสมกับ รสสุขุม, รสเผ็ดร้อน
รสชาติที่กินเกินขนาด หรือปรุงไม่สมดุลจะทำให้ร่างกายเสียสมดุลได้ เช่น
- รสเผ็ด กินแล้วขับลม แต่ถ้าเป็นไข้ ไม่ควรกิน เพราะแสลงต่อโรค แต่ถ้ารสเผ็ดบริโภคพอดี จะบำรุงกระดูก, ขน, หนัง, บำรุงไฟธาตุ
- รสเปรี้ยว ขับเสมหะ ถ้ากินมากเกินไป จะแสลงต่อน้ำเหลือง ถ้ากินเปรี้ยวอย่างสมดุล ต้องมีเปรี้ยวคู่กับหวานหรือขม หากกินในสัดส่วนสมดุลจะบำรุงลำไส้เล็ก เส้นเอ็นกาย บำรุงตับ
- รสเค็ม ซึมซาบไปตามผิวหนังทั้งนอกและในร่างกาย ชำระมูกเมือกในลำไส้ แสลงกับอาการถ่ายเป็นบิด กินในสัดส่วนสมดุล จะบำรุงเส้นเอ็น, กระดูก, เจริญอาหาร
- รสฝาด สมานแผล กระชับผิวหนัง เส้นเอ็น แต่แสลงต่อโรคท้องผูก
- รสขม บำรุงน้ำดี ผิวหนัง ถ้ากินเกินจะแสลงโรคลม
- รสหวาน ซึมซาบไปตามเนื้อ ฟื้นฟู บำรุงลำไส้ใหญ่ เจริญอาหาร แสลงต่อการอาเจียน
- รสหอมเย็น บำรุงหัวใจ แสลงต่อโรคลมจุกอก
- รสมัน บำรุงเส้นเอ็น ข้อต่อต่างๆ แสลงต่อโรคเสมหะพิการ
- รสเมาเบื่อ ล้างพิษน้ำดีโลหิต แสวงต่อโรคหัวใจพิการ (ต้องใช้ร่วมกับน้ำผึ้ง จะออกฤทธิ์พอดี)
ทำอย่างไรจะกินพืชผักให้ได้รสชาติที่สมดุลและเป็นกลางเหมาะสมกับธาตุร่างกายของเรา ตามสูตรแพทย์แผนไทยในการปรับสมดุลของร่างกาย จึงจัดออกมาเป็นสูตร คือ
1.สูตรน้ำผักปั่น : ให้นำส่วนผสมดังกล่าวที่เป็นผักมาหั่นแล้วปั่นรวมกัน
ผักกาดหอม 3 ก้าน
ขึ้นฉ่าย 3 ก้าน
มะเขือเทศ 2 ลูก
น้ำมะนาว 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำผึ้ง 4 ช้อนโต๊ะ
หอมแขก 1 ลูก
น้ำเปล่า 1 แก้ว
2.สูตรน้ำหญ้าปั่น
หญ้าอย่างน้อย 3 ชนิด อย่างละเท่าๆ กันรวมให้ได้น้ำหนักประมาณ ½ กิโลกรัม (เช่น หญ้าม้า, หญ้าตีนนก, หญ้าตีนกา, หญ้าแห้วหมู, หญ้าปักกิ่ง ฯลฯ)
น้ำ 2 ลิตร
น้ำตาลอ้อย 5 ช้อนโต๊ะ
น้ำมะขามเปียก 5 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ นำหญ้ามาหั่นแล้วปั่นรวมกันเอาแต่น้ำ จากนั้นปรุงรสให้เปรี้ยว – หวานพอเหมาะ สามารถดื่มได้ตลอดเวลา (ยกเว้นตอนเช้า ตื่นนอนไม่ควรดื่ม เพราะจะทำให้ท้องอืด)
สรุป “น้ำผักปั่น” และ “น้ำหญ้าปั่น” ทำหน้าที่ 2 อย่างคือ
1.ให้สารอาหารที่ร่างกายทำให้ฟื้นฟู “ตับ” และ “ตับอ่อน”
2.กระตุ้นให้ร่างกายพร้อม “ย่อยไขมัน” ที่เหลือค้างอยู่ให้เปลี่ยนรูปเป็น “พลังงาน” จึงทำให้ร่างกายเตรียมพร้อมในการย่อยอาหารที่จะกินในมื้อต่อไป