เนื้อหาวันที่ : 2007-03-29 17:30:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1028 views

"ปิยะบุตร" ขอหมื่นล้านพัฒนาภาคอุตฯ ไทย หวังผลักดันจีดีพีโต

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ของบรัฐบาลกว่า 1 หมื่นล้านบาท เร่งเพิ่มขีดแข่งขันอุตสาหกรรมไทย ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมปี 2551 หวังผลักดันจีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มมูลค่า 3.3 ล้านบาท เจียดงบให้อุตสาหกรรมจังหวัดเพิ่ม 1 ล้าน ปั้นเอสเอ็มอี

"ปิยะบุตร"  ของบรัฐบาลกว่า 1 หมื่นล้านบาท เร่งเพิ่มขีดแข่งขันอุตสาหกรรมไทย ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมปี 2551 หวังผลักดันจีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มมูลค่า 3.3 ล้านบาท  เจียดงบให้อุตสาหกรรมจังหวัดเพิ่ม 1 ล้าน หวังปั้นเอสเอ็มอีให้แกร่ง

.

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการสัมมนา ยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรมประจำปีงบประมาณ 2551 ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมมีภารกิจเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาและเพิ่มขีดแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรม สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืน

.

ในปีงบประมาณ 2551 นั้นกระทรวงเตรียมของบประมาณจากรัฐบาลกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตาม 5 ยุทธศาสตร์สำคัญที่กำหนดโดยมีเป้าหมายจะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคอุตสาหกรรม (จีดีพี) ให้มีมูลค่า 3.3 ล้านล้านบาทในปี 2551

.

กระทรวงฯ จะเป็นองค์กรในการผลักดันอุตสาหกรรม วิสาหกิจและผู้ประกอบการ ให้มีการใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ตลอดจนสร้างพื้นฐานทางปัญญา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ด้วยการปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ มีประสิทธิภาพยึดมั่น ในหลักธรรมาภิบาลและบูรณาการทำงาน กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

.

"กระทรวงฯ จะเร่งสรุปรายละเอียดของยุทธศาสตร์และงบประมาณ ให้เสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติงบประมาณสนับสนุนต่อไป โดยยอมรับงบประมาณที่จะเสนอนั้นค่อนข้างสูง แต่ก็เพื่อใช้ตามความจำเป็นในการพัฒนาและเพิ่มขีดแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม แต่จะได้งบตามที่ขอไปหรือไม่นั้น รัฐบาลจะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม" นายปิยะบุตร กล่าว

.

ยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1.การปรับโครงสร้างการผลิตและเร่งยกระดับเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพที่สูงขึ้น 2.การพัฒนาปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำธุรกิจอุตสาหกรรมให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

.

3. การเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน (โอท็อป) ในระบบเศรษฐกิจพอเพียง ให้สามารถดำเนินธุรกิจอยู่รอดได้มีการบริหารจัดการที่เข้มแข็งมีบรรษัทภิบาลและจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งในปี 2551 ตั้งเป้าจะผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ 2,450 ราย และ 4. การผลักดันผู้ประกอบการให้มีการพัฒนาอย่างสมดุลยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม

.

นายปิยะบุตร กล่าวว่า เขาได้สั่งกำชับให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศเร่งกระตุ้นและผลักดันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร เพื่อลดต้นทุนและผลิตสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในปี 2550 กระทรวงได้ให้งบอุตสาหกรรมจังหวัดเพิ่มเติมอีกจังหวัดละ 1 ล้านบาท เพื่อไปให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการมากขึ้น

.

กระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่าภาคอุตสาหกรรมปี 2550 จะขยายตัว 5-6% ซึ่งเป็นแนวโน้มปกติที่อุตสาหกรรมขยายตัวมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 1% โดยคาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัว 4-5% ก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งระบบโดยกำลังศึกษาตัวชี้วัดเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตกับต่างประเทศใน 15 อุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาว่าเอกชนไทยต้องปรับปรุงในจุดใด ซึ่งในระยะสั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจะเน้นการสร้างองค์ความรู้เพื่อวางรากฐานให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

 
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ