โรงงานน้ำตาลชี้อ้อยไฟไหม้และอ้อยสกปรก ฉุดผลผลิตวูบ ชาวไร่สูญรายได้นับหมื่นล้านบาท ทั้งยังทำลายอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลด้วย
โรงงานน้ำตาลชี้อ้อยไฟไหม้และอ้อยสกปรก ฉุดผลผลิตวูบ ชาวไร่สูญรายได้นับหมื่นล้านบาท ทั้งยังทำลายอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลด้วย
โรงงานน้ำตาลชี้อ้อยไฟไหม้และอ้อยสกปรก ส่งผลให้ผลผลิตต่อตันอ้อยลดลงมาก ตีเป็นเม็ดเงินของชาวไร่อ้อยที่หายไปนับหมื่นล้านบาท เผยข้อมูลการผลิตน้ำตาล ปี 53/54 ปัญหาอ้อยไฟไหม้และอ้อยสกปรกทวีความรุนแรงขึ้นสูงถึง 66.77% ฉุดผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยเฉลี่ยลดลงเหลือ 101.09 กก. ภาคเหนือหนักสุด สัดส่วนอ้อยไฟไหม้สูงถึง 77.76% ได้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย แค่ 94.53 กก. ส่วนภาคอีสานมีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้น้อยสุด 57.61% ได้ผลผลิตต่อตันอ้อยสูงถึง 108.41 กก.
นางวัลยารีย์ ไพสุขศานติวัฒนา เลขานุการคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า มีอ้อยเข้าหีบปี 53/54 จำนวน 95.36 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 96.39 ล้านกระสอบ (9,639 ล้านกิโลกรัม) เฉลี่ยอ้อย 1 ตัน ผลิตน้ำตาลได้ 101.09 กิโลกรัม ต่ำกว่าผลผลิตเฉลี่ยของปีที่ผ่านมา ซึ่งอ้อย 1 ตัน ผลิตน้ำตาลได้ 101.17 กิโลกรัม
จากการตรวจสอบข้อมูลของปีนี้ย้อนหลัง พบว่า แนวโน้มผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยมีทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเมื่อเดือนพฤษภาคม ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย อยู่ที่ 102 กิโลกรัม และล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554 เหลือเพียง 101.09 กิโลกรัม เท่านั้น สาเหตุเกิดจาก สัดส่วนอ้อยไฟไหม้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 2.84% หรือ 2.708 ล้านตันและช่วงเวลาหีบอ้อยที่ยาวนานกว่าปกติ เนื่องจากปริมาณอ้อยมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ส่งผลให้โรงงานต้องเปิดหีบอ้อยเลยช่วงสงกรานต์จนถึงฤดูฝน ซึ่งคุณภาพอ้อยลดลงและมีสิ่งสกปรกปนเปื้อนมาก
นางวัลยารีย์ กล่าวว่า ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยโดยเฉลี่ยต่ำกว่าที่ควรนั้น ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยโดยตรง เนื่องจากชาวไร่อ้อยได้รับส่วนแบ่ง 70% ของรายได้จากการขายน้ำตาลทราย หากขยับผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยเฉลี่ยของการผลิตน้ำตาลทั่วประเทศเพิ่มขึ้นจากประมาณ 101 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ให้มาใกล้เคียงกับที่ทำได้ในพื้นที่เพาะปลูกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 108 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ก็จะได้ปริมาณน้ำตาลในระบบเพิ่มขึ้นประมาณ 7 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เมื่อคิดปริมาณอ้อยทั้งหมดประมาณ 95 ล้านตันของปีนี้ เท่ากับจะทำให้มีน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก 665 ล้านกิโลกรัม ซึ่งหากนำมาคำนวณเป็นราคาขาย ณ หน้าโรงงานที่ 20 บาท เป็นเงินประมาณ 13,300 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งของชาวไร่อ้อยถึง 9,310 ล้านบาท แต่ถ้าสามารถทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 110 กิโลกรัมต่อตันอ้อย รายได้จากการขายน้ำตาลก็จะเพิ่มขึ้นกว่า 17,000 ล้านบาท หรือเป็นส่วนแบ่งของชาวไร่อ้อยเกือบ 12,000 ล้านบาท
“สาเหตุที่อ้อยไฟไหม้และอ้อยสกปรกมีผลต่อผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย เพราะอ้อยที่ไฟไหม้มีสิ่งปนเปื้อนมาก อีกทั้งหากทิ้งไว้ในไร่เกิน 3 วัน จะสูญเสียความหวาน และยังทำให้น้ำอ้อยมี Dextran มากกว่าอ้อยสด อันส่งผลให้เกิดความยุ่งยากในกระบวนการผลิตน้ำตาล เช่น การทำใส การกรอง การต้มเคี่ยว การตกผลึกน้ำตาลช้ากว่าปกติ และอาจมีปัญหาการค้าน้ำตาลในตลาดโลกในอนาคต เนื่องจากมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ และสุขภาพ โรงงานน้ำตาลจึงได้เร่งสร้างความเข้าใจถึงผลเสียของอ้อยไฟไหม้และอ้อยสกปรก พร้อมสนับสนุนสินเชื่อรถตัดอ้อยให้ชาวไร่อ้อย เพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และปัญหาแรงงานตัดอ้อยที่จะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยรวมในอนาคตที่รุนแรงขึ้นได้” นางวัลยารีย์ กล่าว
เลขานุการคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวด้วยว่า โรงงานน้ำตาลจะเร่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านการบริหารจัดการในทุกขั้นตอนการผลิตน้ำตาล ตั้งแต่กระบวนการให้ความรู้แก่ชาวไร่อ้อยเรื่องการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และอ้อยปนเปื้อน รวมถึงการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายต้องแล้วเสร็จก่อนฤดูฝน พร้อมให้ความรู้เรื่องการจัดเก็บผลผลิต การจัดเก็บอ้อยสะอาด ที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อยและอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยให้ได้มากที่สุด