เนื้อหาวันที่ : 2011-06-30 15:08:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 961 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 30 มิ.ย. 2554

1. “โฆษิต”คาดแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังเติบโตได้ดี โดยมีแรงขับเคลื่อนของภาคเอกชน
-  นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ กล่าวในงานสัมมนา “เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง 2554... โอกาสและความท้าทาย” โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังยังมีโอกาสเติบโตได้ดีจากแรงขับเคลื่อนหลักของภาคเอกชน ที่ผลประกอบการยังแข็งแกร่ง เชื่อว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GDP ในปี 54 จะเติบโต 4 % ตามเป้าหมาย แม้ว่าจะมีปัจจัยลบที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ปัญหาเงินเฟ้อ ราคาสินค้าแพง การเคลื่อนย้ายเงินทุน ขณะที่การเมืองในประเทศยังต้องรอดูว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล และจะมีเหตุการณ์ความวุ่นวายตามมาหรือไม่

-  สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 - 5.0 ไม่เปลี่ยนแปลงจากประมาณการไว้เดิมเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ถือเป็นการปรับเข้าสู่การขยายตัวในระดับปกติ จากปีก่อนหน้าที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่สูง โดยการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้จะได้รับแรงขับเคลื่อนทั้งจากอุปสงค์ภายในประเทศและอุปสงค์ภายนอกประเทศ โดยพบว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2554 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 9.0 โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะยังคงขยายตัวร้อยละ 4.3 เนื่องจากการจ้างงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทางการเกษตรหลักๆ

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.6 เนื่องจากคาดว่าผู้ประกอบการจะสามารถกลับมาผลิตในระดับปกติได้อีกครั้ง ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนภาวะเศรษฐกิจ  โดยการบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0  และ การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 จะสามารถขยายตัวร้อยละ 4.5

2.  ธปท. เผยค่าบาทยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลภูมิภาค
-  ผู้อำนวยการสำนัก ตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง สถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้ ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค แม้ว่าอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินอื่น ซึ่งเป็นผลจากต่างชาติชะลอการลงทุน เพื่อรอดูความชัดเจนของการเมืองในประเทศ รวมถึงการแก้ปัญหาหนี้ของกรีซ แต่ยังไม่พบว่ามีการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติหรือมีนัยสำคัญ โดยยังเป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกไปทั้งภูมิภาค เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ที่มีเงินไหลออกจากทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร

-  สศค. วิเคราะห์ว่า วันที่ 29 มิ.ย.54 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยนับจากช่วงต้นปี 54 ที่ร้อยละ  -3.06 หรืออยู่ที่ระดับ 30.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 30.39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยหลักมาจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป และGoldman Sachs ได้ปรับลดพอร์ทลงทุนในไทย จึงทำให้มีการย้ายการลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนไปสู่ตลาดที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า โดยนับจากต้นปีกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลออกจากตลาดพันธบัตรทั้งสิ้น -57,233.30 ล้านบาท และตลาดหลักทรัพย์ทั้งสิ้น -8,959.32 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง ทั้งนี้ สศค.คาดว่าในปี 54 เงินบาทจะเคลื่อนไหวในช่วง 29.20-31.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (คาดการณ์ ณ 31 มี.ค.54)

3. ผลผลิตอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเดือน พ.ค. ขยายตัวสูงสุดในรอบ 50 ปี
-  สำนักข่าวลบลูมเบิร์ก รายงานว่าผลผลิตอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ณ เดือน พ.ค. 54 ขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 โดยขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 โดยเปรียบเทียบกับเดือนก่อน สืบเนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นสามารถผลิตได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกับกำลังผลิตจริงก่อนเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยที่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ อาทิ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ และบริษัทนิสสัน ได้วางแผนเพิ่มกำลังการผลิตโดยจะจ้างคนงานเพิ่มขึ้นจำนวน 4,000 อัตรา และ 200 อัตรา

-  สศค. วิเคราะห์ว่าผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติตั้งแต่ วันที่ 11 มี.ค. 54 ส่งผลให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเกิดการชะลอตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ผลิตเพื่อการส่งออกได้ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน มี.ค. และ เม.ย. 54 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ    -2.2 และ -12.5 ต่อปี

ทั้งนี้ จากการที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น (บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ และบริษัทนิสสัน) ได้มีแผนการขยายการผลิตรถยนต์ในเดือน มิ.ย. 54 ที่ร้อยละ 3.3 และเดือน ก.ค. 54 ที่ร้อยละ 0.5 นอกจากนี้ ตัวเลขยอดขายปลีก ณ เดือน พ.ค. 54 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ถือเป็นสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการส่งออกของญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี สศค. ได้ปรับลดการประมาณการเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 54 จากร้อยละ 1.3 ลงเหลือร้อยละ -0.6 ต่อปี จากผลกระทบของภัยพิบัติ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง