ไอดีซีระบุ การใช้แชทและโซเชียลเน็ตเวิร์คทุกที่ทุกเวลา คือตัวกระตุ้นความต้องการในการเชื่อมต่อแบบพกพาในระดับที่สูงขึ้น
ไอดีซีระบุ การใช้แชทและโซเชียลเน็ตเวิร์คทุกที่ทุกเวลา คือตัวกระตุ้นความต้องการในการเชื่อมต่อแบบพกพาในระดับที่สูงขึ้น
ไอดีซี บริษัทวิจัยตลาดชั้นแนวหน้าของโลกเปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้งานของผู้ที่ท่องโลกออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน โดยพบว่าพฤติกรรมยอดนิยมอันดับ 1 ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนเกือบทุกประเทศทั่วโลก คือการแชท และ การใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ในฐานะช่องทางในการทำการตลาดอีกด้วย
โดยในประเทศที่ความนิยมในการแชทของผู้ใช้สมาร์ทโฟนมีสูง เช่นประเทศจีน (64%) และนิวซีแลนด์ (40%) จะมีการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ในระดับต่ำ (23% และ 25% ตามลำดับ) ส่วนในประเทศที่มีการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์สูงก็จะมีการแชทในปริมาณที่ต่ำ สะท้อนถึงผลทางการทดแทนของกิจกรรมออนไลน์ 2 ประเภทนี้
งานวิจัยเกี่ยวกับผู้บริโภคที่ไอดีซีได้จัดทำขึ้นทั่วโลกภายใต้ชื่อ ConsumerSpace 360° ยังแสดงให้เห็นอีกว่า ในทุกวันนี้ผู้ใช้สมาร์ทโฟน 4 คนจาก 10 คนนั้นใช้สมาร์ทโฟนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นประจำทุกวัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 60% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มีเพียง 1 ใน 4 ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนเท่านั้นที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ตัวนี้เป็นประจำ
ซึ่งการเติบโตเช่นนี้มีให้เห็นในทุกภูมิภาค โดยในช่วงเวลาเพียงแค่หนึ่งปี ตัวเลขของผู้ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นประจำทุกวัน ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวทั้งในตลาดที่อิ่มตัวแล้ว อย่างในประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และในตลาดเกิดใหม่เช่นประเทศบราซิล รัสเซีย หรือแม้กระทั่งอินเดีย
“เกาหลีใต้คือประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่สุด จำนวนของผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทุกวันนั้นเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัว ส่วนในประเทศจีนถึงแม้อัตราการเติบโตในส่วนนี้จะไม่สูงนัก แต่ก็เป็นประเทศที่มีผู้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนเป็นประจำทุกวันเป็นจำนวน 2 ใน 3 ของจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั้งหมดในประเทศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในบรรดา 21 ประเทศที่เราได้ทำการสำรวจเลยทีเดียว” กล่าวโดยนางคิตตี้ ฟก รองประธานฝ่าย End-User Research & Statistics ประจำประเทศจีนของไอดีซี
ไอดีซีได้จัดทำการวิจัยและการสำรวจ ConsumerScape 360° ใน 5 ประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อันประกอบไปด้วยประเทศออสเตรเลีย จีน อินเดีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้อยู่ก่อนแล้ว และกำลังขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึงประเทศฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และรวมถึงประเทศไทยด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลล่าสุดที่ได้จากการศึกษาตลาดโทรศัพท์มือถือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของไอดีซียังชี้ให้เห็นอีกว่า การเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนในไตรมาสแรกของปี 2554 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยกเว้นญี่ปุ่นนั้น ถือเป็นการเติบโตที่เร็วที่สุด โดยประเทศจีนและเกาหลีใต้มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดถึง 377% และ 152% ตามลำดับ
การวิจัยและการสำรวจ Consumerscape 360° ของไอดีซีได้ให้นิยามและแบ่งประเภทของผู้บริโภคออกเป็น 6 ประเภท ตามทัศนคติและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความรู้ ความสนใจ และความอ่อนไหวต่อราคาในกลุ่มสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อันประกอบไปด้วย กลุ่มกูรูผู้เผยแพร่เทคโนยี (Tech Evangelist) กลุ่มผู้มีรายได้สูงที่มักซื้อหาสินค้าออกใหม่ (Impulse Buyer) กลุ่มผู้ซื้อที่ซื้อจากประสบการณ์ (Experiential Adopter) กลุ่มผู้ซื้อที่เน้นประโยชน์ใช้สอยจริง (Pragmatic Purchaser) กลุ่มผู้ซื้อที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม (Green Buyer) และกลุ่มผู้ซื้อที่มีทั้งความสนใจและรายได้ต่ำ (Disengaged Functionalist) โดยมีการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้บริโภคจำนวน 42,000 คนทั่วโลกในทุกๆ ปี ซึ่งข้อมูลที่ได้จะสะท้อนให้เห็นถึงสภาพตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในทุกๆ สินค้าและทุกๆ ภูมิภาค
ผู้ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนทุกวันนั้นมีแนวโน้ม ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มกูรูผู้เผยแพร่เทคโนยีและกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่มักซื้อสินค้าออกใหม่ ไอดีซีได้ให้นิยามของกลุ่มกูรูผู้เผยแพร่เทคโนโลยี ว่าเป็นผู้บริโภคที่มีการศึกษาและรายได้สูง มีความสนใจและมีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก รวมถึงมีลักษณะเป็นผู้นำทางความคิดที่มักมีผู้บริโภครายอื่นๆ มาขอคำแนะนำเสมอ
ในขณะที่นิยามของกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่มักซื้อหาสินค้าออกใหม่คือ ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองที่มีรายได้ที่ใช้จ่ายได้สูง และมักซื้อสินค้าที่ตนเองถูกใจโดยที่ไม่จำเป็นต้องทดลองใช้หรือขอความเห็นจากผู้อื่น โดยเกือบครึ่งของผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เป็นผู้บริโภคใน 2 กลุ่มนี้คือผู้ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนทุกวัน ถือได้ว่าเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆ และนั่นทำให้ผู้บริโภคเหล่านี้กลายเป็นผู้บุกเบิกในเรื่องของการใช้การเชื่อมต่อแบบพกพาทุกวันนั่นเอง