เนื้อหาวันที่ : 2007-03-28 21:01:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 942 views

นายก "สุรยุทธ์" ถกทีมเศรษฐกิจเครียด หวั่นวิกฤต! ซ้ำรอยปี 40

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ผู้นำทัพรัฐบาลขมิ้นอ่อนขึ้นทำเนียบหารือทีมเศรษฐกิจด่วน หวั่นวิกฤตค่าเงินบาทรอบใหม่ งัดไอเดียอัดงบประมาณภาครัฐลงสู่รากหญ้าทุกตารางนิ้วทั่วทุกภูมิภาคของไทย แนวคิดที่ไม่แตกและต่างประชานิยม ระบอบ "ทักษิโณมิกส์" ของรัฐบาลที่แล้ว

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ผู้นำทัพรัฐบาลขมิ้นอ่อนขึ้นทำเนียบหารือทีมเศรษฐกิจด่วน หวั่นวิกฤตค่าเงินบาทรอบใหม่ งัดไอเดียอัดงบประมาณภาครัฐลงสู่รากหญ้าทุกตารางนิ้วทั่วทุกภูมิภาคของไทย หวังให้เป็นรากแก้ว ย้อนรอยประชานิยมระบอบ "ทักษิโณมิกส์"

.

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550 ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมด่วนร่วมกับทีมเศรษฐกิจรัฐบาลทั้งหมด ได้แก่ นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ

.

ภายหลังการประชุม พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า นายโฆสิตได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการขับเคลื่อน งบประมาณภาครัฐให้ลงไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ส่วนค่าเงินบาทที่มี แนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องนั้น ดร.ฉลองภพ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเป็นผู้ดูแล "ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้น เป็นเรื่องที่ทุกคนกังวล ทางกระทรวงการคลังและ ธปท.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด" นายกรัฐมนตรีกล่าว

.

ด้านนายโฆสิตกล่าวว่า ที่ประชุมยังไม่ได้หารือเกี่ยวกับค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น แต่หารือในเรื่องการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม ส่วนมาตรการพิเศษที่จะนำมาใช้ช่วยเหลือผู้ประกอบการนั้น ตนจะร่วมประชุมวงเล็กๆ กับนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในวันที่ 27 มีนาคมนี้ ที่ผ่านมา

.

นายโฆสิตกล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งโลก และโลกนี้ก็ใหญ่กว่าประเทศไทยมาก คิดว่าเอกชนมีความเข้าใจดี ด้านมาตรการพิเศษเพื่อดูแลค่าเงินบาท ต้องขอเวลาหารือกันก่อน ส่วนค่าเงินที่อาจแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น ต้องพิจารณาเปรียบเทียบว่าค่าเงินบาทเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค ขณะที่มาตรการกันสำรองเงินทุนระยะสั้น 30% นั้น เป็นเรื่องที่ผู้รับผิดชอบแต่ละด้านต้องไปดำเนินการเองหากจะมีมาตรการใดออกมาก็จะต้องหารือกันก่อน

.

"วิธีทำงานของผมนั้นต้องการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยไม่เคยคิดว่าจะต้องคิดเองและทำเองทั้งหมด นอกจากนี้อยากเห็นรัฐมนตรีแต่ละคนมารายงานเกี่ยวกับงานที่เกี่ยวข้องให้ พล.อ.สุรยุทธ์ได้ทราบเป็นระยะ" นายโฆสิตกล่าว

.

อย่างไรก็ตามนายโฆสิตให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ภายหลังการพบนายกรัฐมนตรีในรอบที่สอง เพื่อหารือเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ตนมาทำความเข้าใจว่า สถานการณ์ ค่าเงินและปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่รุมเร้า เป็นปัจจัยนอกเหนือที่ไม่สามารถควบคุมได้ เป็นสถานการณ์ที่คล้ายกับประเทศอื่นๆ ซึ่งการมีคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวมก็ได้รับฟังข้อมูลจากหลายฝ่าย เพื่อรู้ทันสถานการณ์

.

ตนได้มอบหมายให้แบงก์ชาติไปเช็กข้อมูล และให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจทั้งหมด เข้ามาร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งยังมีจุดอ่อนอยู่ที่ความต้องการบริโภคภายในประเทศ แต่เชื่อว่าในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ปัญหาจะคลี่คลาย อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น ปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจไทยยังมีข่าวดี เช่น การส่งออกยังอยู่ในอัตราที่สูง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังไม่มีปัญหา" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

.

แหล่งข่าวจากนักเศรษฐศาสตร์ให้ความเห็นว่า หากมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วง ทั้งแรงกดดันเรื่องค่าเงินบาทที่มาจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐ และภายในจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดโดยเฉพาะการส่งออกที่ขยายตัวดีอยู่ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงมีคำถามว่า หากให้การส่งออกลดลงแล้วจะใช้ปัจจัยอะไรมาขับเคลื่อน ซึ่งทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเล็งว่าการใช้จ่ายภายในประเทศน่าจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนได้ จึงหันมาเร่งการใส่เงินรากหญ้าในโครงการอยู่ดีมีสุขและการใช้จ่ายภาครัฐ

.

"แต่ดูแล้วดัชนีเศรษฐกิจทุกตัวไม่ดีเลย ยกเว้นส่งออก การขยายสินเชื่อรวมก็ลดลง การลงทุน การบริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นต่างๆ ขาลงหมด เชื่อว่ารัฐบาลก็คงเป็นห่วงอยู่ เข้าใจว่าตอนนี้ปัญหาบาทแข็งคงจะช่วยอะไรได้ยาก แม้จะลดดอกเบี้ยเยอะๆ ก็ตาม เพราะปัจจัยภายนอกกดดันค่อนข้างมาก" แหล่งข่าวให้ความเห็น

.

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ