ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน พ.ค. 54 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 211.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 70.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือน พ.ค. 54 มีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณจำนวน 205.2 พันล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 1) รายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้จำนวน 188.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 71.1 2) รายจ่ายลงทุนจำนวน 16.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 112.2 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายที่สำคัญในเดือน พ.ค. 54 ได้แก่ เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 8.3 พันล้านบาท รายจ่ายงบชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจำนวน 8.2 พันล้านบาท งบของกระทรวงกลาโหมจำนวน 3.5 พันล้านบาท และเงินอุดหนุนกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 3.3 พันล้านบาท
ทั้งนี้ การเบิกจ่ายในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 54 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 1,510.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 25.5 ซึ่งประกอบด้วยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีจำนวน 1,410.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 30.2 หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 65.0 ของกรอบวงเงิน 2.16 ล้านล้านบาท ขณะที่รายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้จำนวน 1,240.1 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 170.7 พันล้านบาท นอกจากนี้ ผลการเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ณ วันที่ 17 มิ.ย. 54 สามารถเบิกจ่ายสะสมได้ทั้งสิ้นจำนวน 281.9 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายที่ร้อยละ 80.6 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 350.0 พันล้านบาท
จากการวิเคราะห์ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน พ.ค. 54 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -80.0 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 114.6 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) เกินดุลจำนวน 34.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 5.3 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังการกู้เงินเกินดุลจำนวน 39.9 พันล้านบาท สำหรับฐานะการคลังในช่วง 8 เดือน ของปีงบประมาณ 54 ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -458.3 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 49.2 พันล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด (ก่อนกู้) จำนวน -409.1 พันล้านบาท ส่งผลให้ปริมาณเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 54 มีจำนวน 155.2 พันล้านบาท
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน เม.ย.54 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,248.4พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 2.3 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.03 ของ GDP ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นสุทธิ 6.2 พันล้านบาท ในขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) ลดลงสุทธิ 1.8 และ 2.1 พันล้านบาท ตามลำดับ สะท้อนว่าสถานะหนี้สาธารณะของไทยมีความมั่นคงเนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP