เนื้อหาวันที่ : 2011-06-27 15:03:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 878 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 27 มิ.ย. 2554

1. ครึ่งแรกปี 54 ต่างชาติเข้าลงทุนไทย 3,144 ล้านบาท
-  กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยว่า ยอดธุรกิจของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในไทย  ช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 54  มีจำนวน 111 ราย หดตัวร้อยละ 13.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เงินทุนที่นำมาใช้ประกอบธุรกิจมียอดลงทุนรวมทั้งสิ้น 3,144 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -18.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้นับตั้งแต่ มี.ค.43 – มิ.ย. 54 มีการอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจไปแล้ว  2,732 ราย  และมีเงินทุนเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจทั้งสิ้น 1.4 แสนล้านบาท

สาเหตุที่มีธุรกิจต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการในไทยลดลง เนื่องจากช่วงเดียวกันของปี 53  มีธุรกิจที่มาขอประกอบกิจการทางการเงินจำนวนมาก เช่น ธุรกิจให้กู้ยืม สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นธุรกิจต้องใช้เงินลงทุนสูง ขณะที่ธุรกิจได้รับอนุญาต   ในปี 54 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการสำหรับบริษัทในเครือ เช่น บริการให้กู้ยืมเงิน บริการบัญชีและกฎหมาย บริการซ่อมแซมบำรุงรักษาสินค้าต่างๆ ซึ่งใช้เงินลงทุนน้อยกว่า โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดยังคงเป็นประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเดียวกันกับปี 53

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การเข้ามาลงทุนของต่างชาติเพื่อประกอบธุรกิจในประเทศไทย ปัญหาหนี้สาธารณะยุโรป ดุลการค้า และการเคลื่อนย้ายเงินทุน เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา โดยครึ่งแรกปี 54 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 30.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สำหรับครึ่งหลังปี 54 ค่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวน ตามค่าเงินสกุลหลักของโลก เงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดเงินและตลาดทุน และดุลการค้า ทั้งนี้ คาดว่าค่าเงินบาทปี 54 จะเคลื่อนไหวในช่วง 29.2-31.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (คาดการณ์ ณ 31 มี.ค. 54)    

2.  ราคาหมูยังวุ่น อ้างฟาร์มหมูขายเกินราคา
-  กระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้ค้าเขียงหมูรายย่อยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลหลายรายว่า ฟาร์มเลี้ยงหมูรายใหญ่ใน จ.ชลบุรี และฉะเชิงเทรา จำหน่ายหมูในราคาที่ไม่เป็นธรรม โดยมีการคิดราคาสูงกว่าราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ที่ 70 บาทต่อกิโลกรัม โดยขายที่ราคา 76 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ฟาร์มเลี้ยงหมูได้ใช้วิธีการออกใบเสร็จในราคากิโลกรัมละ 70 บาท แต่มีค่าค้างชำระอีก 6 บาท ซึ่งยากต่อการตรวจสอบ โดยราคาที่ไม่เป็นธรรมนี้ ส่งผลให้ ราคาสุกรขายปลีกต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 135-140 บาท

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาเนื้อสุกรที่ปรับตัวสูงขึ้นมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเมื่อพิจารณาแหล่งที่มาของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Contribution to Headline Inflation) พบว่าราคาสินค้าในหมวดเนื้อสัตว์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 (จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. ที่ขยายตัวร้อยละ 4.2) อย่างไรก็ดี สภาพอากาศที่เริ่มเย็นลงจะทำให้ปริมาณสุกรที่ออกสู่ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาสุกรปรับตัวลดลงได้ในอนาคต

3. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯเดือน พ.ค. 54 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9
-  ดัชนีผู้จัดการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ในเดือน พ.ค. 54 ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนอยู่ที่ระดับ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากที่หดตัวร้อยละ 2.7 ในเดือนเม.ย.54  โดยหากนำยอดสั่งซื้อสินค้าคงทุนหักอุปกรณ์ด้านการขนส่งจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.6  สำหรับสต๊อกสินค้าคงคลังของสินค้าคงทนอยู่ที่ระดับ 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 1.2

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทันที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือน พ.ค. 54 เป็นผลมาจากการสั่งซื้อชิ้นส่วนเครื่องบินรบ 27 รายการเทียบกับ 2 รายการในเดือน เม.ย. 54 โดยเป็นการขยายตัวของยอดสำรองที่นั่ง ประกอบกับสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ได้กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 หลังจากหดตัวในเดือน เม.ย. 54 ซึ่งสะท้อนว่า ภาคการผลิตของประเทศสหรัฐฯเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวหลังจากได้รับผลกระทบจากภาวะห่วงโซ่อุปทานตึงตัวจากสึนามิที่ญี่ปุ่น โดยภาคการผลิตอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.7 ของจีดีพีเศรษฐกิจสหรัฐฯ

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นยังสอดคล้องกับดัชนีอุตสาหกรรม (ISM PMI) ที่อยู่ระดับ 53.5 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ระดับ 60.8 ประกอบกับรัฐบาลบารัค โอบามาได้ออกนโยบายกระตุ้นอาชีพด้านอุตสาหกรรม จึงทำให้คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯในครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น ทั้งนี้ สศค.ได้ประมาณการไว้ ณ เดือนมี.ค. 54 ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 54 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.9 ต่อปี อย่างไรก็ตาม สศค.จะมีการปรับประมาณการใหม่อีกครั้งในปลายเดือน มิ.ย. 54

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง