สสว. จับมือ สถาบันการศึกษา เดินหน้าสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs ต้นแบบ นำร่อง 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเชื่อมโยงธุรกิจ พัฒนาร่วมมือรัฐ-เอกชน
สสว. จับมือ สถาบันการศึกษา เดินหน้าสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs ต้นแบบ นำร่อง 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเชื่อมโยงธุรกิจ บูรณาการความร่วมมือรัฐ-เอกชน
สสว. จับมือ สถาบันการศึกษาในภูมิภาค สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs ต้นแบบ พร้อมนำร่องใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือและดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจร่วมกัน ให้สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และเชื่อมโยงกับวิสาหกิจขนาดใหญ่ รวมถึงเป็นกลไกความร่วมมือการส่งเสริม SMEs ระหว่าง สสว. ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การเอกชน
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนา การสร้างเครือข่าย และสร้างความเข็มแข็งให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในภูมิภาค ที่มีจำนวนกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ จึงได้ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่สถาบันการศึกษาในภูมิภาค จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร วิทยาลัยพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และมหาวิทยาลัยมหิดล ในการดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs ต้นแบบ และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการภายใต้ภารกิจพื้นฐานของ สสว.
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs ต้นแบบ ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และเชื่อมโยงซัพพลายเชนระหว่างภาคธุรกิจขนาดใหญ่กับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) โดยนำร่องใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพทางการตลาดและมีมูลค่าทางการเศรษฐกิจสูง ได้แก่ สาขาอุปกรณ์ทางการแพทย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง สาขาเครื่องสำอางและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง สาขาอู่ต่อเรือ-ซ่อมเรือและธุรกิจที่เกี่ยวเนี่อง (เฉพาะเรือสำราญ)
“การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในภูมิภาค เป็นภารกิจสำคัญที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างกระบวนการความร่วมมือเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมผลักดัน สนับสนุนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับแผนปฎิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อันเป็นภารกิจหลักของ สสว. อีกทั้งยังสามารถสร้างเครือข่ายการส่งเสริม SMEs ตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับภาค และเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ซึ่งจะทำให้มีฐานข้อมูลที่ทันสมัย สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนา และสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในที่สุด”
ซึ่งจากการสำรวจและศึกษาข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีแหล่งวัตถุดิบและมีอุตสาหกรรมหลายอย่างในประเทศที่สามารถเกี่ยวโยงหรือสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ได้เป็นอย่างดี ขาดเพียงแต่การเชื่อมต่อ และปรับแนวคิดของผู้ประกอบการ SMEs ในการพึ่งพาการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ โดยเปลี่ยนเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เพื่อมุ่งเน้นการส่งออก ดังนั้น จึงควรพัฒนาให้อุตสาหกรรมนี้เกิดการรวมตัวเป็นเครือข่ายวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันได้ตลาดโลก และรองรับการเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่งมือแพทย์
ขณะที่อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ-ซ่อมเรือ ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศในด้านเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงานจำนวนมากทั้งในอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า เครื่องจักรกล เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์การเดินเรือ อุปกรณ์ไม้และเครื่องเรือน สีและเคมีภัณฑ์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ส่วนสาขาเครื่องสำอางและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ปัจจุบันมูลค่าการค้าในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยสูงถึงปีละ 115,000 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนเครื่องสำอางที่มีสารสกัดจากธรรมชาติถึง 30 – 35 % ของมูลค่าการค้าดังกล่าว และแม้ประเทศไทยจะมีแหล่งวัตถุดิบทางธรรมชาติที่สำคัญต่อการผลิตเครื่องสำอาง แต่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตในระดับท้องถิ่น ยังขาดความรู้ในด้านเทคโนโลยีการผลิต รวมถึงกฎระเบียบที่จำเป็นต่อการขึ้นทะเบียนเวชสำอาง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมขึ้น
“การสร้างความร่วมมือครั้งนี้ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เกี่ยวข้องในคลัสเตอร์นั้นๆ ได้รวมตัวกันกำหนดทิศทาง เป้าหมาย และกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรม การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ตลอดจนจัดการทรัพยากรต่างๆ ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจต้นน้ำและปลายน้ำ ซึ่งจะส่งผลดีในการเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันทางการค้า ให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ SMEs ในภูมิภาค มีความพร้อมต่อการเปิดเขตการค้าเสรีในอนาคต ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างกลไกความร่วมมือการส่งเสริม SMEs ระหว่าง สสว. ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การเอกชน” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม