1. เปิดเกมส์ออนไลน์ “ สไมล์แลนด์ ” เจาะนักท่องเที่ยวทั่วโลก
- ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ได้วางยุทธศาสตร์การใช้สื่อออนไลน์ โดยได้เปิดแคมเปญส่งเสริมการตลาดผ่านสังคมออนไลน์(Social Network Amazing) Thailand Networking ที่เริ่มทำตั้งแต่ปี 53 โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเล่นเกมส์และสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 54 ประมาณ 1,000 ล้านคน ซึ่งนับเป็นโอกาสทางการตลาดอย่างมากสำหรับประเทศไทย เนื่องจากสามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้อย่างกว้างขวางทั่วโลก สามารถวัดประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าสื่อออฟไลน์ ปัจจุบันหากเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติจะให้ผลตอบแทนที่ร้อยละ40 หากเป็นคนไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 30
- สศค. วิเคราะห์ว่า การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ผ่านสังคมออนไลน์นับเป็นช่องทางที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งข้อมูลในการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 54 (ม.ค. – พ.ค. 54) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมีจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 8.20 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 24.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 53 ซึ่งจะมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปี 54 จากเม็ดเงินของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ สศค.คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในปี 54 ไม่ต่ำกว่า 19 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 22.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
2. ญี่ปุ่นปรับเพิ่มประเมินเศรษฐกิจ
- สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเพิ่มตัวเลขการประเมินเศรษฐกิจประจำเดือนมิ.ย. 54 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก หลังจากที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิได้ส่งผลทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกอ่อนตัวลง ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยการฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทานมีความคืบหน้ามากขึ้นและความกังวลเกี่ยวกับการบริโภคที่อ่อนแอก็ลดลง
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภายหลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาตรการต่างๆ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังจากที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสที่ 1 ปี 54 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ ก็เริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น ได้แก่ (1) ผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.54 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวถึงร้อยละ -15.5 (2) คำสั่งซื้อผู้จัดการฝ่ายผลิต (Mfg PMI) เดือน พ.ค.54 เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน มาอยู่ที่ 51.3 เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมเริ่มเร่งการผลิตเพื่อแก้ไขปัญหาชะงักงันในห่วงโซ่อุปทาน
(3) ยอดส่งออกสินค้าเดือน พ.ค.54 หดตัวร้อยละ -10.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -12.4 และ (4) การใช้จ่ายบริโภคภายในประเทศในเดือน เม.ย.54 หดตัวร้อยละ -3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวชะลอลงเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -8.5 ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้แสดงถึงสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 54 จะเติบโตได้ร้อยละ 1.3 ต่อปี (คาดการณ์ ณ มี.ค.54) และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในวันที่ 29 มิ.ย.54 ต่อไป
3. IMF ลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯปี 54 – 55 เหลือ 2.5 – 2.7%
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ พร้อมเตือนว่า ให้ดำเนินการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณลงในทันที ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐอาจเติบโต 2.5 % ในปี 53 และ 2.7 % ในปี54 ขณะที่ในรายงานคาดการณ์ของ IMF ในเดือนเม.ย. 54 นั้น IMF คาดการณ์ว่า GDP สหรัฐอาจขยายตัว 2.8 %ในปีนี้ และ 2.9 % ในปีหน้า
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯในไตรมาส 1 ของปี 54 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯในเดือน เม.ย. 54 อยู่ที่ระดับ 40.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 ของ GDP ซึ่งหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง อาจทำให้งบลงทุนและงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตมีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังคงเปราะบาง
โดยอัตราการว่างงานเดือน เม.ย. 54 อยู่ที่ระดับร้อยละ 9.0 ของกำลังแรงงานรวม ตลอดจนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมล่าสุดเดือนพ.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 53.4 ลดลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 60.8 นอกจากนั้น อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพ.ค. 54 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 จากราคาน้ำมันและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค.คาดว่า เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯในปี 54 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.9 (คาดการณ์ ณ เดือนมี.ค. 54) และจะมีการปรับประมาณการในเดือนมิ.ย. 54
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง