นักวิชาการ ชี้ปัญหาขาดแคลนแรงงานกำลังวิกฤต ขณะที่ป.ตรีขึ้นไปว่างงานสูง จี้เร่งวางนโยบายการใช้กำลังคน
นักวิชาการทีดีอาร์ไอระบุ มีปัญหาทั้งปริมาณและคุณภาพ แรงงานระดับล่างขาดแคลนขั้นวิกฤติ และสูญเสียจากการตายปีละกว่า 2 แสนคนที่ต้องรับทดแทนและเสริมด้วยแรงงานต่างด้าวในระยะสั้น ส่วนแรงงานระดับสูง(ป.ตรีขึ้นไป)มีปัญหาว่างงานสูง จากเรียนไม่ตรง ขาดคุณภาพ โอกาสมีงานทำน่าวิตกเกือบทุกสาขา เร่งนโยบายวางแผนการใช้กำลังคนของประเทศ ปรับทิศทางอุตสาหกรรมให้ใช้แรงงานระดับสูงเพิ่มขึ้นและลดการใช้แรงงานระดับล่าง
ค่าจ้างแรงงานถือเป็นไฮไลท์ที่พรรคการเมืองนำมาหาเสียงขายฝันให้กับแรงงานไทยก่อนวันเลือกตั้ง แต่เรื่องใหญ่กว่าและไม่ถูกหยิบยกมาให้ความสำคัญนั่นคือ ปัญหาความขาดแคลนแรงงาน จากความไม่สมดุลของโครงสร้างประชากรกับการศึกษา ที่ต้องแก้ไขในเชิงนโยบาย เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า สถานการณ์ความขาดแคลนแรงงานเป็นเรื่อง(ไม่)เล็ก โดยการสำรวจในปี 2551 พบว่า ภาพรวมเรายังใช้แรงงานระดับล่าง(ประถมและม.ต้น)จำนวนมากถึงเกือบ 27 ล้านคนหรือ 72.3%ของการจ้างงาน แต่เข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยมากเพียง 2-3 หมื่นคน ส่วนใหญ่มุ่งเน้นการเรียนต่อในระดับสูง เพราะต้องการผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามวุฒิการศึกษา กลุ่มแรงงานระดับล่างขาดแคลนชัดเจน และมีอัตราการสูญเสียจากการตายและต้องรับทดแทนแต่ละปีกว่า 2.1 แสนคน ไม่ว่าจะมีการขยายงานหรือไม่ก็ตาม และอีกส่วนหนึ่งจะมีผู้มีอายุเกิน 80 ปี กว่า 6.8 หมื่นคนและทำงานไม่ได้เลยในแต่ละปี
ขณะที่กลุ่มแรงงานระดับกลาง (ม.ปลาย,ปวช.) แม้เน้นเรียนต่อ แต่ยังเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่น้อย โดย ม.ปลาย จบ 306,000 คน เรียนต่อ 88% เข้าสู่ตลาดแรงงาน 31,300 คน ปวช.จบ 163,000 คน เรียนต่อ 70% เข้าสู่ตลาดแรงงานปีละ 42,000 คน รวม แรงงานระดับกลาง ม.ปลาย,ปวช.เข้าสู่ตลาดแรงงาน 73,400 คน โดยปัจจุบันมีการจ้างแรงงาน ม.ปลาย 3.7 ล้านคน และ ปวช.1.8 ล้านคน (ผลการสำรวจปี 2551 ต้องการ ม.ปลาย-ปวช. 4.7 หมื่นคน ยังมีแรงงานระดับกลางสูงกว่าความต้องการ 2.64 หมื่นคน ในขณะที่มีที่ว่างงานอยู่ 3.55 หมื่นคน แต่การสำรวจสถานประกอบการปี 2551 กลับพบว่ามีความขาดแคลนเกือบสามหมื่นคน ที่จริงแล้วแรงงานกลุ่มนี้ไม่น่าขาดแคลน เพราะในการสำรวจเดียวกันพบว่ามี ปวช.ว่างงานถึง 3.6 หมื่นคน)
ระดับปริญญาตรี จบปีละ 304,000 คน เรียนต่อ 24% เข้าสู่ตลาดแรงงานปีละ 207,000 คน ปัจจุบันใช้แรงงานปริญญาตรีราว 3.65 ล้านคน ปริญญาโท 0.46 ล้านคน รวม 4.1 ล้านคน (ปี 2551 สำรวจพบว่าต้องการ ป.ตรี 4.6 หมื่นคน ขาดแคลน 2.9 หมื่นคน ว่างงาน 114,800 คน) โดยอาจมีขาดแคลนบางสาขา แต่ว่างงานมากกว่าที่ขาดแคลน สาเหตุเป็นเพราะเรียนไม่ตรงสาขาวิชาที่ตลาดแรงงานต้องการ ส่วน ป.โทต้องการ 656 คน ขาดแคลน 341 คน ว่างงาน 4,000 คน เพราะเรียนไม่ตรงเช่นกัน
จะเห็นว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานระดับล่างสาเหตุมาจากการเริ่มตึงตัวจากปัจจัยทางประชากรและการศึกษา การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและการศึกษา ที่ประชากรวัยแรงงานเริ่มเพิ่มน้อยลงและในที่สุดจะลดลง และคนเหล่านี้อยู่ในตลาดแรงงาน เชื่อมโยงสู่ระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนในโรงเรียนเพิ่มขึ้นแต่ยังขาดการเชื่อมโยงกับส่วนของตลาดแรงงานรองรับ จึงเกิดปัญหาเรียนไม่ตรงสาขา และจำนวนมากขาดคุณภาพจึงไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน เกิดปรากฏการณ์ที่มีตำแหน่งงานว่างแต่หาคนทำงานไม่ได้ และในภาพรวมคนจบระดับสูงล้นงาน
ดร.สราวุธ ให้ความเห็นว่าในกลุ่มแรงงานระดับล่าง ซึ่งมีความขาดแคลนชัดเจนนั้น การแก้ไขระยะสั้นจึงเน้นการนำแรงงานต่างด้าวมาทดแทน ขณะเดียวกันในระยะยาวควรมีการจัดทำนโยบายการใช้กำลังคนของประเทศที่ชัดเจน ที่สำคัญปัญหาไม่ได้อยู่ที่การผลิตกำลังคนอย่างเดียวแต่อยู่ที่การใช้กำลังคน ต้องเปลี่ยนทิศทางการใช้แรงงานภาคอุตสาหกรรมให้ใช้แรงงานระดับสูงมากขึ้น ซึ่งหลายประเทศเริ่มยกระดับการใช้แรงงานของตนแล้ว เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอของจีน
ความขาดแคลนแรงงานยังเกี่ยวข้องกับปัญหาโครงสร้างแรงงานที่ต้องพิจารณาไปพร้อมกันทั้งโครงสร้างรายอุตสาหกรรม โครงสร้างการศึกษา โครงสร้างอาชีพ โครงสร้างอายุและอุตสาหกรรม โครงสร้างรายภาคคือชนบทและในเมือง เป็นต้น
ดร.สราวุธ กล่าวย้ำว่า การผลิตกำลังคนไม่ตรงกับความต้องการนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การผลิตอย่างเดียว แต่อยู่ที่การบริหารจัดการ การประชาสัมพันธ์ ลักษณะอุตสาหกรรมของประเทศ การบริหารแรงงานอย่างเหมาะสม และตัวผู้เรียนเอง (เลือกเรียนผิดเอง เรียนตามกระแสค่านิยม และขาดข้อมูล) และความจริงแล้วการผลิตให้ตรงตามต้องการจะช่วยลดปัญหาการว่างงานและขาดแคลนแรงงานได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากความต้องการแรงงานไม่นิ่ง จึงต้องคอยติดตามปรับปรุงข้อมูลความต้องการอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งต้องติดตามทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและตลาดแรงงานอย่างใกล้ชิดด้วย
นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับวิธีการสรรหาคนทำงานที่มีประสิทธิภาพด้วย โดยการสำรวจปี 2551 พบว่า การขาดแคลนแรงงานส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการสรรหาแรงงาน โดยสถานประกอบการขนาดใหญ่จะเข้าถึงข้อมูลแรงงานของราชการและใช้ทุกสื่อในการสรรหา ขณะที่สถานประกอบการขนาดเล็กยังเน้นการติดป้ายประกาศหน้าโรงงานและการแนะนำจากญาติพี่น้องเป็นหลัก ซึ่งเป็นวิธีการหาคนงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ความขาดแคลนแรงงานจึงมีมากในสถานประกอบการขนาดเล็ก ดังนั้นการสื่อข้อมูลสารสนเทศด้านแรงงานจึงต้องมีการปรับปรุงให้เกิดการรับรู้กว้างขวางและเข้าถึงได้ง่าย
ดร.สราวุธ ให้ข้อเสนอแนะ ควรพัฒนาระบบข้อมูลความต้องการแรงงานที่ทันสมัยและเข้าถึงง่าย และการวางแผนกำลังคนเชิงรุกในทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน การให้คำแนะแนวการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาบุคลากรก่อนเข้าทำงานและขณะทำงาน การปรับทิศทางภาคอุตสาหกรรมและบริการให้สอดคล้องกับอุปทานกำลังคน การบริหารจัดการกำลังคนทั้งในและระหว่างประเทศ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา (ทั้งบุคลากร งบประมาณ ครุภัณฑ์ และการบริหารจัดการ) และการบังคับใช้กฎหมายทุกอย่างจริงจังจะทำให้มีความระวังเรื่องการประกอบการไม่ได้คุณภาพ ต้องใช้กำลังคนที่มีคุณวุฒิและคุณภาพ
ปัจจุบันโลกการทำงานหรือตลาดภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ต้องการคนที่คุณลักษณะหลากหลาย ครูแนะแนวควรเข้าถึงข้อมูลตลาดแรงงานอย่างรอบด้าน และแนะนำให้เด็กรู้ว่าปลายทางของแต่ละสาขาวิชาที่เลือกเรียนหรืออาชีพที่อยากเป็นนั้นมีเส้นทางหรือต้องมีความรู้อะไรบ้าง ประกอบการตัดสินใจเลือกเรียน สำหรับสาขาที่น่าวิตกสำหรับโอกาสการมีงานทำในอนาคต ปวช.และปวส. ได้แก่ ธุรกิจและการบริการ วิศวกรรมศาสตร์ การบริการส่วนบุคคล คอมพิวเตอร์ (ทั้งปริมาณและคุณภาพ) ส่วนปริญญาตรีขึ้นไป เกือบทุกสาขา ล้วนน่าวิตกทั้งสิ้น หากยังไม่มีการกำหนดแผนการใช้กำลังคนของประเทศที่ชัดเจน.
ที่มา : ทีดีอาร์ไอ