เนื้อหาวันที่ : 2011-06-21 15:32:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1046 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 21 มิ.ย. 2554

1. การส่งออกของไทยในเดือนพ.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 17.6 
-  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการส่งออกของไทยในเดือน พ.ค. 54 มีมูลค่า 19,465 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 17.6 เมื่อเทียยบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,187 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ  33.8  ทำให้ในเดือนพฤษภาคม 54 ไทยเกินดุลการค้า 278 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกไทยในเดือน พ.ค. 54 ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนเม.ย. 54 ที่ขยายตัวร้อยละ 24.6 เนื่องจากการหดตัวของสินค้าในหมวดอัญมณี เครื่องประดับและยานยนต์เป็นสำคัญ (โดยในเดือน พ.ค. 54 การส่งออกอัญมณี เครื่องประดับและยานยนต์หดตัวร้อยละ -52.7 และร้อยละ -22.8 ตามลำดับ) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเหตุภัยพิบัติสึนามิในประเทศญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 61.1 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 43.2 จากการขยายตัวของข้าวและยางพาราที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 99.0 และ 86.5 ตามลำดับ ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกปี 54 การส่งออกไทยยังขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 25.2 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 54       

2. พาณิชย์รักษาเบอร์ 1 ตลาดข้าวโลก
-  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวเปิดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ Thailand Rice Convention และกิจกรรม World Rice Standard Summit 2011 ว่า ปี 54 จะเร่งหาแนวทางเพิ่มปริมาณส่งออกข้าวให้มากขึ้น เพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาดส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก โดยในปี 53 ไทยมีการส่งออกข้าวไป 9.05 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 5,345 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าปี 54 ไทยจะมีผลผลิตข้าวกว่า 20.26 ล้านตัน และอาจสามารถส่งออกข้าวได้ถึง 10 ล้านตัน

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยในเดือน พ.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 17.6 ส่วนหนึ่งมาจากสินค้าในหมวดเกษตรกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 61.1 ซึ่งมาจากข้าวเป็นสำคัญ โดยการส่งออกข้าวในเดือน พ.ค.54 ขยายตัวร้อยละ 99.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 46.3 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 714.6 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 502.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยการส่งออกข้าวของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 54 (ม.ค. – พ.ค. 54) มีการขยายตัวร้อยละ 42.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,885 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการส่งออกของไทยจะกลับมาขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีหลังตามที่คาดการณ์ โดยคาดว่าทั้งปี 54 จะขยายตัวร้อยละ 13.3 – 15.3 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค.54 และจะมีการปรับประมาณการณ์อีกในเดือนมิ.ย. 54)

3. ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 2 เดือนติด เหตุส่งออกร่วงและนำเข้าพุ่ง
-  ทางการญี่ปุ่นเผยว่าประสบภาวะขาดดุลการค้าเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดย พ.ค.54 ขาดดุล 8.54 แสนล้านเยน เนื่องจาก พ.ค.54 ยอดส่งออกลดลง ร้อยละ 10.3 ต่อปี ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ12.3 ต่อปี (นับจาก พ.ค.53) ทั้งนี้ ยอดส่งออกที่ลดลงมากมีสาเหตุสำคัญจากการส่งออกไปจีนที่ลดลงกว่าร้อยละ 8.1 ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐลดลงกว่าร้อยละ 14.6 ทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงครึ่งหลังของปี 54

-  สศค.วิเคราะห์ว่า เมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจ (Real GDP) ของญี่ปุ่น นับจากไตรมาส 4 ปี 53 ถึงไตรมาส 1 ปี 54 พบว่าหดตัวติดต่อกัน ที่ร้อยละ -0.3 และ -0.9 ต่อไตรมาส ตามลำดับ ส่งผลญี่ปุ่นอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการใช้จ่ายบริโภค เม.ย.54 พบว่าลดลงร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ประกอบกับภาวะขาดดุลที่ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ดังกล่าว ทำให้คาดว่าในไตรมาสต่อไป (เม.ย.-มิ.ย.) เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังคงถดถอยถอยต่อไปและอาจกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญลำดับที่ 2 รองจากจีน โดยไทยมีการส่งออกไปญี่ปุ่นสัดส่วนร้อยละ 10.5 ของการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เมื่อการใช้จ่ายเพื่อการบูรณะฟื้นฟูภายหลังภัยพิบัติเริ่มแสดงผล ตลอดจนปัญหาชิ้นส่วนอุตสาหกรรมหรือสินค้าบางอย่างขาดหายไปได้รับการแก้ไขคลี่คลาย จะส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง