ก.ไอซีที เดินหน้าผลักดันนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ สานฝันให้ประชาชนไทย 95% ได้ใช้บรอดแบนด์ใน 10 ปี
ก.ไอซีที เดินหน้าผลักดันนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ สานฝันให้ประชาชนไทย 95% ได้ใช้บรอดแบนด์ใน 10 ปี
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ภายใต้กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย พ.ศ.2554 - 2563 ได้มีการกำหนดนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติขึ้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและใช้เป็นกรอบในการดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาบริการบรอดแบนด์ โดยที่ภาครัฐมีบทบาทเป็นผู้กำหนดนโยบายและสนับสนุนให้มีการใช้บริการบรอดแบนด์อย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนร่วมดำเนินการไปสู่ความสำเร็จ โดยการตั้งองค์กรอิสระตามกฎหมายทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
“นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ เป็นนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการพัฒนาบริการโทรคมนาคมพื้นฐานของประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ธุรกิจโทรคมนาคมในปัจจุบันและทิศทางในอนาคต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นที่กระทรวงฯ จะต้องวางแผนดำเนินงานผลักดันนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ด้วยการจัดทำโครงการจัดทำแผนดำเนินงานเพื่อผลักดันนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อมูลและแนวทางพื้นฐานในการผลักดันนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติให้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเพื่อจัดทำรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงาน” นางจีราวรรณ กล่าว
สำหรับการดำเนินโครงการฯ นี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ Demand Side และ Supply Side ในด้าน Demand Side จะดำเนินการวิเคราะห์ว่าภาครัฐจะมีรูปแบบการใช้งานที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร และต้องใช้เงินงบประมาณในการดำเนินการเท่าไร แล้วจัดทำเป็นแผนบูรณาการงบประมาณของกระทรวงต่างๆ ในการใช้โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ และแผนการดำเนินงานในภาพกว้าง (High-level) ของการใช้ประโยชน์โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติโดยภาครัฐ
ส่วนด้าน Supply Side จะดำเนินการจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะของรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ของหน่วยงานบรอดแบนด์แห่งชาติ ทั้งโครงสร้าง รูปแบบการดำเนินงาน แนวทางการลงทุน และจัดทำแผนแม่บทด้าน Supply Side ของโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ ระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะมีทั้งแผนการขยายโครงข่ายในภาพกว้าง (High-level) แผนการลงทุนและแผนการจัดหาเงินทุน เงินงบประมาณในการดำเนินโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ ตลอดจนแผนการร่วมใช้สินทรัพย์โครงข่ายของประเทศไทย
“เป้าหมายสำคัญประการแรกของนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ก็คือ การพัฒนาโครงข่ายบรอดแบนด์ให้ครอบคลุมประชากรได้ไม่น้อยกว่า 80% ใน 5 ปี และ 95% ใน 10 ปี ซึ่งจะทำอย่างไรที่จะให้สามารถเข้าถึงครัวเรือนของประชาชนได้ตามแผนฯ รวมทั้งทำอย่างไรให้สามารถที่จะเกิดบรอดแบนด์ราคาถูกบนเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุด หรือทำอย่างไรที่จะให้ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมไอซีทีได้เข้ามามีส่วนร่วมได้มากที่สุด
ดังนั้น จึงต้องมีการจัดทำแผนดำเนินงานเพื่อผลักดันนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ทั้งในส่วนของ Demand side และ Supply side นี้ขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างรวดเร็ว สามารถบรรลุเป้าหมายหลักของนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ คือ ต้องการให้คนไทยเข้าถึงไอซีทีได้อย่างเท่าเทียม และทั่วถึงกัน ทั้งนี้ เพื่อนำความเจริญ รวมถึงลดความเลื่อมล้ำในการเข้าถึงบรอดแบนด์ให้กับประชาชน” นางจีราวรรณ กล่าว
ที่มา : กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร